พรมแดนแห่งภาวะผู้นำ (ตนเอง) Leadership at the edge

A flash of sunshine

หนึ่งในนิยาม “ภาวะผู้นำ” คือ การก้าวข้ามตนเอง การเอาชนะตัวเอง

เห็นด้วยจากตรรกะ และคิดว่าเข้าใจพอประมาณด้วยการคิดตาม แต่ไม่แน่ใจว่า ตนเองเห็นเคยสัมผัสสภาวะแห่งการก้าวข้ามหรือเอาชนะตัวเองหรือไม่

เวลาที่เราก้าวข้ามตนเอง เอาชนะตนเอง สภาวะตอนนั้นเป็นอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เรามีความรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง รำคาญ เบื่อ และเกิดความคิดที่อยากพูดหรือทำอะไรบางอย่าง …. หากเราพูดและทำตามแรงกระตุ้นนั้น เราก็อยู่ในแบบแผนพฤติกรรมหรืออุปนิสัยเดิม ซึ่งหลายครั้งก็มักนำไปสู่ผลที่เราพอจะคาดเดาได้อยู่บ้าง

แต่เมื่อเราให้พื้นที่ จะเรียกว่า ห้อยแขวน ปล่อยวาง หรือ อยู่กับอารมณ์ ความคิดนั้น ๆ ไปสักพักก่อน โดยไม่ต้องทำตามแรงกระตุ้นภายใน มันจะเกิดช่องว่าง ซึ่งเป็นโอกาสให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ความคิดความเห็นใหม่ ๆ แบบแผนพฤติกรรมใหม่ ๆ และตรงนั้นเอง ที่เราอยากเรียกว่า a small edge of leadership

ตรงนั้น เราเลือกได้ว่า จะยังคงอยู่ใน loop เดิม หรือจะกระโดดข้ามมันออกไป

ช่องว่างนี้เป็นโอกาสให้การก้าวข้ามเกิดขึ้นได้ การเอาชนะตัวเองเกิดขึ้นได้

ณ พรมแดน ที่เป็นรอยต่อของความคุ้นชินกับความใหม่ที่ไม่เคย ไม่ง่ายเลยที่จะกระโดดข้ามออกไป มันต้องใช้แรงมากพอสมควรที่จะฝืนแรงภายใน

แต่เมื่อได้ทำและทำได้ เราจะพบคนใหม่ (ในชั่วขณะนั้น) และความสดใหม่ในตัวเองนำความปีติมาให้กับหัวใจ เราได้เห็นผลของการเป็นคนใหม่ในขณะนั้นว่า ให้ผลที่ต่างออกไปจากเดิม

ในขณะนั้นเอง ร่องแห่งพฤติกรรมใหม่ ตัวตนใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

หากมีการทำซ้ำ ๆๆๆ ก็จะกลายเป็นแบบแผนใหม่ของตัวเรา ทั้งการคิด ทำ พูด (new being) — การเปลี่ยนแปลงตนเองจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ในแง่นี้ สิ่งที่เราเห็นและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเอง (self transformation) ว่าเป็นเรื่องที่เราก้าวข้าม และเอาชนะตัวเอง ในขณะต่าง ๆ ที่ถูกท้าทายกับเรื่องราวมากมายในชีวิตประจำวัน

เก็บชัยชนะเรื่อย ๆ บ่อย ๆ จนตัวตนเก่าค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนไป กลายเป็นคนใหม่อยู่เรื่อย ๆ จนถึงที่สุดแห่งภาวะผู้นำ คือ ความเป็นมนุษย์ที่แท้

 

รุ่งอรุณแห่งความสุขและความหวัง

“ดีใจเถิด ที่มีแผ่นดินอยู่” ชายจีนฮ่อผู้นั้นบอกพี่เพลินก่อนตาย

เสียงของเขาก้องอยู่ในหัวใจฉัน

ฉันนึกถึงบรรพบรุรษและเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากคุณชัยวัฒน์ เรื่องการสร้างเมืองสุโขทัย และคิดไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ฉันเชื่อว่า บรรพบรุรุษจำนวนมากคงมีความคิดไม่ต่างจากชาวจีนฮ่อผู้นี้ เป็นความรู้สึกของมนุษย์ที่ยอมตายเพื่อต่อชีวิตให้ผู้อื่น

ประวัตศาตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง อำนาจ การช่วงชิงเสมอไป หลายครั้ง มันเป็นเรื่องความรักด้วย รักในบุคคลที่เราไม่รู้จัก รักในลูกหลานที่เราไม่เห็นหน้าในอนาคต

 

Glorious sunset อาทิตย์อัสดงที่สุโขทัย ระหว่างที่เรากำลังล้อมวงสนทนาเรื่องพลังความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง

Glorious sunset อาทิตย์อัสดงที่สุโขทัย ระหว่างที่เรากำลังล้อมวงสนทนาเรื่องพลังความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง

เมื่อปีก่อน ฉันได้ร่วมวงสนทนาเล็ก ๆ ที่นำโดยอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และกลุ่มพี่ ๆ ผู้ทำงานในภาคประชาสังคม ที่มารวมตัวกันที่สุโขทัย

ในครั้งแรกนั้น เราสนทนากันในห้องของโรงแรมเป็นหลัก แม้จะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่บรรยากาศการสนทนาและสนามพลังการสนทนาช่วยผนึกความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างกัน ฉันไม่รู้สึกว่าอยู่ในกรอบห้องสี่เหลี่ยมเลย แต่รู้สึกว่าเราอยู่ในวงกลมแห่งมิตรภาพ มีความสุขมาก — หรือนี่คือพลังของ “สุโขทัย” ดินแดนแห่งรุ่งอรุณของความหวัง ชีวิต และความสุข

กลับมาที่สุโขทัยอีกครั้ง ฉันตั้งใจจะดูว่า ใจของตัวเองจะรู้สึกเหมือนเดิมหรือต่างไปจากคราวก่อน หลายครั้ง ภาพประทับใจเดิม ๆ ที่เรามีก็อาจเป็นอุปสรรคขวางการเรียนรู้ เพราะใจมักจะรู้สึก “ซ้ำซาก” ฉันจึงเปิดใจใหม่ให้กับสิ่งเก่าเพื่อจะได้รู้สึก “ซ้ำสด” ….

นอกห้อง --- บรรยากาศล้อมวงสนทนาทำให้นึกถึงวันที่ัเป็นนักศึกษา เรามักนั่งอย่างนี้คุยกัน ได้ทั้งความรู้ และความรู้สึกที่ดี

นอกห้อง — บรรยากาศล้อมวงสนทนาทำให้นึกถึงวันที่ัเป็นนักศึกษา เรามักนั่งอย่างนี้คุยกัน ได้ทั้งความรู้ และความรู้สึกที่ดี

ตลอด ๒ วันในการอบรม ใบหน้าที่คุ้นเคย กระบวนการที่คุ้นทำ และผืนดินอันเก่าแก่ ช่วยทำให้หัวใจและดวงตาของฉันสดใหม่ขึ้น จนช่วงสุดท้ายของการอบรมที่เราทุกคนนั่งล้อมวงก่อนจากลากัน ความหมายบางอย่างก็ผุดขึ้นกลางใจ

ฉันเริ่มเข้าใจความหมายของเกอเธ่ นักปราชญ์ชาวเยอรมัน ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เคยยกคำพูดของเขาให้เราครุ่นคิดเสมอ ๆ ว่า “สิ่งที่สูเจ้าได้รับมาเป็นมรดกจากบรรพบุรุษนั้น จงรับเอาไว้ เพื่อที่จะทำให้เป็นสมบัติของเจ้าเอง”

ความหมายที่เกิดขึ้นนี้เป็นการตกผลึกความรู้ และความรู้สึก ที่เหนี่ยวนำด้วยบรรยากาศและกระบวนการสนทนา การเดินทางเรียนรู้ในเมืองเก่าสุโขทัย (Learning journey) ข้อมูลความรู้ที่ได้ยินได้ฟังจากเพื่อนร่วมวงสนทนาและวิทยากร รวมถึงการครุ่นคิดในชีวิตประจำวัน

ฉันรักต้นไม้และมักใช้เวลาอยู่ในสวนเล็ก ๆ ในบ้าน รดน้ำต้นไม้ ปลูกและดูแลตันไม้ ฉันชอบสัมผัสดินให้ตัวมอมแมม และเมื่ออยู่กับต้นไม้บ่อยเข้า ๆ วันหนึ่งไม่นานมานี้ ระหว่างที่รดน้ำต้นไม้และชื่นชมกับดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน ดอกบัวขาวคลิบม่วงที่กำลังคลี่ดอกรับแสงตะวัน ฉันรู้สึกอิ่มเอิบใจกับผืนดินใต้ฝ่าเท้า ผืนดินที่รองรับชีวิต .. ฉันรับรู้ถึงความรักของแผ่นดิน สายลมต้นไม้ น้ำ อากาศ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่หล่อเลี้ยงชีวิต ในความรู้สึกขอบคุณต่อธรรมชาติ หลายคำถามพรั่งพรู

“เรามาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร แล้วยามที่เราจากไป อะไรจะเหลืออยู่”

ชีวิตคนเมือง ครอบครัวเดี่ยว มีพี่น้องน้อยลงทุกที ลูกหลานก็อาจไม่มีให้ฉันทิ้งมรดกอะไรไว้ให้ แล้วสิ่งที่ฉันมี สิ่งที่ฉันทำและฉันเป็น จะมอบให้ใคร ฉันจะมีไว้เพื่อใคร จะทำอะไรเพื่อใคร ….

น่าแปลก คำถามเหล่านี้ช่วยให้หัวใจแผ่ขยาย ก่อนที่คำตอบจะผุดพราย … “สิ่งที่ฉันมี ฉันเป็น และฉันทำ เป็นไปเพื่อส่วนรวม ฉันมาอยู่ที่นี่เพื่อบำรุงรักษา ทำให้สิ่งที่ได้รับจากบรรพบุรุษและโลกได้ขยายงอกงามเติบโต สิ่งที่จะเหลืออยู่ในยามที่ฉันจากไป คือ โลกอันอุดมสมบูณรณ์ ความสุข ธรรม (ปรัชญาความรู้) และชีวิต ดั่งที่ฉันได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่เพียงแต่บนผืนแผ่นดินไทย แต่บรรพบุรุษของมนุษยชาติด้วย”

นี่คือสิ่งที่ฉันรู้สึกไม่กี่วันก่อนมาร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่สุโขทัย … และที่นี่ ก็ตอกย้ำหน้าที่ ความรับผิดชอบในชีวิตของตัวเองให้มั่นคงยิ่งขึ้น

คุณชัยวัฒน์ นักโบราณคดีผู้นำอดีตกลับมาให้เราอย่างมีชีวิตชีวา อดีตช่วยให้เราเห็นตัวเองว่ามาจากไหน และจะไปต่ออย่างไร

คุณชัยวัฒน์ นักโบราณคดีผู้นำอดีตกลับมาให้เราอย่างมีชีวิตชีวา อดีตช่วยให้เราเห็นตัวเองว่ามาจากไหน และจะไปต่ออย่างไร

การอบรมคราวนี้แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา ตรงที่คราวนี้เรามีการทัศนศึกษานอกสถานที่ด้วย (learning journey) คุณชัยวัฒน์ นักเล่าเรื่อง (ข้าราชการด้านโบราณคดี) ทำให้อดีตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ไม่เพียงแต่ “พระอจนะ” ที่วัดศรีชุม แต่กำแพงอิฐเก่า ซากวัดวิหาร ฐานชุกชีที่ไร้พระพุทธรูป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เมืองเก่าสุโขทัยล้วนกำลังพูดบางอย่างอยู่เช่นกัน

ทุกอย่างที่นั่นพูดถึงความหวัง ความปรารถนา และพลังของหัวใจมนุษย์ ที่มุ่งมั่นสร้างเมือง ถิ่นที่อยู่ให้อุดมสมบูรณ์ มีความเป็นไท ที่มีอิสระและมีศักดิ์ศรีในตน ในเรื่องเล่ามีเรื่องราวของความรัก ความเสียสละตน อย่างที่พ่อขุนรามคำแหงไสช้างเข้าไปทำยุทธหัตถี เพื่อช่วยพ่อที่กำลังตกอยู่ในวงล้อมช้างตกมัน

ศิลปะในยุคนี้สะท้อนความงามประณีตในจิตใจ ความศรัทธา และปัญญาของผู้คน ที่อยู่ในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ฉันนั่งมองพระอจนะ และจินตนาการว่า ผู้ที่สร้างพระพุทธรูปใหญ่ขนาดนี้ จิตและปัญญาจะต้องใหญ่เพียงใด

พระอจนะ (ผู้ไม่หวั่นไหว) แห่งวัดศรีชุม

พระอจนะ (ผู้ไม่หวั่นไหว) แห่งวัดศรีชุม

ฉันรู้สึกได้รับความสุขจากซากวัด พระพุทธรูปเก่าที่สถิตย์ผ่านกาลเวลา ความสุขนี้ทำให้ฉันเข้าใจความหมายของคำถาม “เมื่อเราจากไป อะไรจะเหลืออยู่ และสิ่งที่เหลืออยู่นั้นจะมีความหมาย ให้อะไรกับคนรุ่นหลัง” ฉันมองพระอจนะ และขอบคุณบรรพบุรุษที่ได้มอบความหมาย ความสุขให้ฉัน และคงอีกหลาย ๆ คนเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปี

ฉันได้ทราบถึงเรื่องราวการชะลอพระพุทธรูปจากสุโขทัยไปยังกรุงเทพ (รัตนโกสินทร์) ทำให้ฉันสะท้อนใจอยู่ไม่น้อย คุณชัยวัฒน์เล่าว่า ในช่วงสร้างกรุงเทพ บรรพชนได้ชะลอพระพุทธรูป สิ่งก่อสร้าง อิฐต่าง ๆ จากหลายเมืองทั่วแคว้น เพื่อไปสร้างกรุงรัตนโกสินทร์

ฉันมองฐานชุกชีที่ว่างเปล่า นึกสะท้อนใจว่าพระพุทธรูปที่เคยอยู่ที่นี่ตอนนี้ท่านอยู่กรุงเทพ

เพราะเหตุใด บรรพบุรุษต้นรัตนโกสินทร์จึงทำเช่นนั้น คุณชัยวัฒน์ให้ความเห็นว่า ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์มีความจำเป็นต้องสร้างเมือง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แผ่นดิน จึงต้องนำเอาของเก่าจากเมืองต่าง ๆ มาประกอบร่างสร้างเมืองโดยไว

“ขวัญ” ของเมืองสำคัญต่อหัวจิตหัวใจคน ขวัญของคนแต่ละคนผูกกับขวัญของกลุ่มและขวัญของเมือง และขวัญของเมืองไม่อาจบอกกล่าวหรือทำให้รู้และเข้าใจด้วยเหตุผล ตรรกะ แต่การ “มีขวัญ” “รับขวัญ” นั้นกระทำผ่านศิลปะ พิธีกรรมที่มีผลต่อความรู้สึกของคน

ฉันเป็นลูกหลานรัตนโกสิทนร์ แม้จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่บรรพบุรุษทำ แต่ก็เข้าใจความหมายและความจำเป็นที่ท่านทำได้ ยิ่งทำให้ฉันตระหนักถึงความรัก ความเสียสละ และความคิดถึงส่วนรวม พวกท่านเหล่านั้นคิดทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อส่วนรวม และตกทอดมาถึงฉันจนทุกวันนี้

มรดกบางอย่างก็ดี บางอย่างก็อาจจะไม่น่ายินดีนัก แต่ฉันขอบคุณ และคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้มรดกต่าง ๆ ที่ได้รับมานั้นงอกงามยิ่งขึ้น ส่วนอันไหนที่เป็นมรดกที่ไม่สมบูรณ์ ขาดวิ่น หรือไม่งาม เราก็ปรับเปลี่ยน ทำให้งดงามได้ เหมือนอย่างที่ พ่อขุนในยุคสุโขทัย ทำให้มรดกของพุกามและขอมปรับเป็นของใหม่ เป็นแบบตัวตนสุโขทัยได้ เป็นขวัญของสุโขทัย คือ ดอกบัวพุ่มที่ประดิษฐานเหนือยอดเจดีย์ ที่ขนาบด้วยศิลปะแบบขอมและพุกาม เมื่อคนเห็นบัวพุ่มก็รู้ว่า นี่คือเรา เราเป็นใคร เรายึดถืออะไร

ฉันตระหนักเห็นความหมายของแผ่นดินยิ่งขึ้น เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าของพี่เพลิน ที่เล่าถึงชีวิตในช่วงที่เป็นพยาบาลในพื้นที่สีชมพู อยู่กับความเป็น ความตายอยู่เป็นประจำ

ครั้หนึ่งมีผู้บาดเจ็บจากการรบเป็นชาวจีนฮ่อ ชายคนนี้คุยกับพี่เพลินจนลมหายใจสุดท้าย เขาเล่าให้ฟังถึงมูลเหตุที่ต้องมารบในดินแดนไทย ที่ก็ไม่ใช่ของตน แต่เขาและพวกจำนวนหนึ่งมารบ (เหมือนทหารรับจ้าง) ให้ฝ่ายไทย ด้วยมีสัญญากับผู้นำทหารระดับสูงของไทยว่า การมาช่วยรบครั้งนี้จะแลกกับผืนดินจำนวนหนึ่งให้ชาวจีนฮ่อได้อยู่อาศัย (ในผืนแผ่นดินไทย)

ชาวจีนฮ่อถูกขับไล่ ไร้ที่อยู่อาศัยในดินแดนของตน พวกเขาจึงมารบ เพื่อให้คนอื่น ๆ ลูกหลานได้มีแผ่นดินอยู่

“ดีใจเถิด ที่มีแผ่นดินอยู่” ชายจีนฮ่อผู้นั้นบอกพี่เพลินก่อนตาย

เสียงของเขาก้องอยู่ในหัวใจฉัน

ฉันนึกถึงบรรพบรุรษและเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากคุณชัยวัฒน์ เรื่องการสร้างเมืองสุโขทัย และคิดไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ ฉันเชื่อว่า บรรพบรุรุษจำนวนมากคงมีความคิดไม่ต่างจากชาวจีนฮ่อผู้นี้ เป็นความรู้สึกของมนุษย์ที่ยอมตายเพื่อต่อชีวิตให้ผู้อื่น

ประวัตศาตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง อำนาจ การช่วงชิงเสมอไป หลายครั้ง มันเป็นเรื่องความรักด้วย รักในบุคคลที่เราไม่รู้จัก รักในลูกหลานที่เราไม่เห็นหน้าในอนาคต

ชายจีนฮ่อคนนั้นตายไปนานแล้ว แต่เรื่องราว ความคิด คำพูดของเขาฝังอยู่ในใจพี่เพลินและฉันก็ดีใจที่ได้รับส่วนแบ่งความงดงามของเรื่องนี้มาอยู่ในใจของฉัน และพรรคพวกของเขาที่มีที่อาศัยในดินแดนไทยจนทุกวันนี้

แผ่นดินเป็นขวัญของชีวิต คนที่ไม่มีที่อยู่ของตนต้องระหกระเหิน ถูกผู้คนอื่นข่มเหงรังแกได้ การมีแผ่นดินอยู่ที่เรียกได้ว่าเป็นของตน ของพวกตน ทำให้เรามีความมั่นคงในการสร้างความเจริญในชีวิต สร้างสรรค์เอกลักษณ์ อย่างที่บรรพบุรุษสุโขทัยได้ทำมา หากไร้ซึ่งแผ่นดินอันเราประกาศได้ว่า เป็นเรา หนทางในการปลูกชีวิตให้มั่นคง สร้างความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ซึ่งทั้งหมดจะกอปรก่อเป็นมนุษย์ สร้างความเป็นมนุษย์ให้เราได้มีความสุข มีศักยภาพได้ ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยแผ่นดินที่อุดมและมั่นคง

ฉันรู้สึกว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่หลอมผนึกกันในห้วงเวลาที่อยู่สุโขทัยนี้ เป็นเสมือนเสียงกระซิบจากบรรพชนว่า พวกเขาได้มอบอะไรไว้ให้เราบ้าง

สิ่งที่เหลือคือ การทำมรดกของท่านให้มีอยู่ในเนื้อในตัวเรา เพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน และโลกต่อไป