มาเรียนเป็นนักเรียนรู้กันเถอะ

โลกทั้งภายในและภายนอกตัวเราเปลี่ยนแปลงเสมอ การที่เรายึดมั่น กอดถือสืงที่รู้ในอดีตไว้ อาจทำให้เราไม่รู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันที่เปลียนไป

ด้วยโลกเป็นอนิจจัง ชาวพุทธจึงต้องฝึกฝนตนเป็นนักเรียนรู้อยู่เสมอ เรียนรู้ที่จะมีชีวิตในปัจจุบัน รู้อยู่กับโลกอย่างมีเป้าหมาย และเกื้อกูลกันและกัน

ระบบการศึกษาไม่ได้บ่มเพาะให้เราเป็นนักเรียนรู้ แต่เราอาจเรียนรู้ที่จะเป็นนักเรียนรู้ได้จากพระบรมครูของเรา ในที่นี้ อยากจะขอเล่าทักษะบางประการที่จะช่วยให้เราเป็นนักเรียนรู้ได้ ซึ่งใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่านักเรียน คนทำงาน คนวัยเกษียณ แม้คในวาระสุดท้าย

——————-

พระพุทธองค์เป็นแบบอย่างของนักเรียนรู้ ท่านเรียนอย่างไรจนบรรลุเป้าหมายสูงสุด อะไรผลักดันให้ท่านออกแสวงหาความรู้ ความจริง เราจะเรียนรู้ตามรอยบรมครูได้อย่างไรบ้าง

นักเรียนรู้ต้องแสวงหาความรู้ ไม่ว่าจากการอ่านหนังสือ การฟัง การสนทนากับผู้อื่น การสังเกตและรับฟังสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ด้วยกายและใจของเรา ซึ่งเป็นอุปกรณ์เรียนรู้ชั้นยอด

แน่นอนว่า คนจะแสวงหาความรู้ขนาดนี้ ต้องเกิดมาจากความรัก รักในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ อยากแสวงหา การเรียนการศึกษาในปัจจุบันทำให้คนรู้สึกรักในการเรียนรู้หรือไม่ เรามักได้ยินเด็ก ๆ บ่นว่า ไม่อยากไปโรงเรียน ทำข้อสอบก็ขอลอก ๆ กัน เราจะทำให้เด็ก ๆ และตัวเราเองรักในความรู้ รักที่จะแสวงหาความรู้ได้อย่างไร

การเรียนรู้ก็ต้องอาศัยแรงบันดาลใจเช่นกัน แรงบันดาลใจของพระพุธองค์มาจากทุกข์และความจริงที่เห็นในชีวิต

อะไรเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตเราบ้าง เรามีความรักในเรื่องใด—

ครุ่นคิดและตั้งคำถาม

พุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ด้วยการครุ่นคิดและตั้งคำถามสำคัญของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านครุ่นคิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เห็น ไม่ปล่อยอะไรผ่าน ๆ โดยไม่ตั้งคำถาม

“มนุษย์เราพ้นทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้หรือไม่” คำถามนี้ผลักให้ท่านทิ้งทุกอย่างที่มีค่าและสุขสบาย เพื่อแสวงหาความจริง

ชาวพุทธต้องเป็นนักตั้งคำถาม คำถามที่ดีและสร้างสรรค์เกื้อกูลโลก (เราว่านะ) รวมถึงต้องตั้งคำถามกับตัวเองด้วย

พระพุทธองค์จะไม่ตรัสรู้ได้เลย หากท่านไม่ใคร่ครวญ สังเกต และตั้งคำถามกับการปฏิบัติของท่านเอง “ใช่แล้วหรือ” การได้ฌานสมาบัติขั้นสูงไม่ได้ทำให้ท่านหลงว่า ได้พบธรรมพ้นทุกข์แล้ว คำถามทำให้เราสืบค้นความจริง จนถึงที่สุด  

— คำถามสำคัญในวันนี้ ช่วงเวลานี้ของเราคืออะไร —-

เปิดหัวใจเพื่อเรียนรู้และรับความรู้ หัวใจของการเรียนรู้ คือ Learn to un-learn เรียนวิธีการถอดถอนสิ่งที่รู้แล้ว

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหลายครั้ง เรามักคิดว่าเรารู้แล้ว และกอดยึดสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความรู้ไว้อย่างเหนียวแน่น หากใครวิพากษ์วิจารณ์ความรู้ของเรา ก็เท่ากับวิจารณ์เรา อย่างนั้นเลย

เมื่อเรากอดยึดความรู้ไว้เช่นนั้น ก็เท่ากับหยุดเรียนรู้ ปิดโอกาสที่จะรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงตรวจสอบว่า สิ่งที่เราคิดว่ารู้นั้น แท้ที่จริง รู้แล่วหรือว่า รุ้ลึกกว่านั้นได้อีก

ในประเด็นนี้ เราได้รับแรงบันดาลใจ จากองค์ทาไล ลามะ ท่านตรัสไว้ครั้งหนึ่ง ประมาณว่า “หากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่า หลักคำสอน หรือวิธีการของพุทธศาสนา อย่าง สมาธิจิต นั้นไม่เป็นจริง ท่านก็พร้อมที่จะวางความเชื่อและความรู้ในเรื่องนั้นไป แต่จนวันนี้ วิทยาศาสตร์ยังไม่อาจหักล้างหลักการ คำสอนของพระพุทธองค์”

เปิดหัวใจให้ว่าง เพื่อรองรับสิ่งใหม่ ๆ แล้วกรองว่า สิ่งใหม่ที่ไหลเข้ามานั้นเป็นอย่างไร

การฟัง

การฟังต้องอาศัยการเปิดใจและตระหนักรู้ว่า เราต้องการฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดและไม่ได้พูด เราต้องการฟังเพื่อเข้าใจและสัมพันธ์กับผู้พูด ฉะนั้น การฟังในลักษณะนี้ เราต้องเพิกถอนความคิดของเราออกไปบ้าง เพราะหากฟังไป เถียงค้านในใจไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราจะได้ยินก็มีแต่เรื่องราวเก่า ๆในหัวของเราเอง หามีสิ่งใหม่แทรกซึมเข้าไปไม่

เพียงแค่ฟัง เราจะได้เรียนรู้ นั่นคือ สิ่งที่นักจัดการความรู้สมัยใหม่มักใช้ ในหลักของ เรื่องเล่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมมุขปาฐะ ที่คนโบราณใช้มานมนาน

ในเรื่องเล่า มีเรื่องราว ความคิด ความฝัน คุณค่า ความรู้สึก ทุกอย่างของมนุษย์ที่สามารถส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการสัมภาษณ์ผู้คนเพื่อรายงานข่าว เราได้ยินเรื่องเล่าแตกต่างหลากหลาย อย่าง เรื่องของพี่ชายคนหนึ่งที่ต่อสู้กับคำพิพากษาของแพทย์ว่า เขาจะเป็นอัมพาตและไม่สามารถดูแลตัวเองได้ชั่วชีวิต เมื่อใจสู้และพอจะกะโผลกกะเผลกพาตัวเองไปหาที่ทางอันสงบ อยู่ลำพังเพื่อใคร่ครวญชีวิตที่ยังเหลือ เขาก็ได้พบกับตาน้ำแห่งชีวิตและแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ พี่คนนี้ เป็นนักธุรกิจทีทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย เกินถ้อยคำ เราได้พลังและกำลังใจจากเรื่องที่พี่ชายเล่า ได้ตัวอย่างที่หากเรามีมรสุมชีวิต เราอาจจะหาพื้นที่สงัดพักใจ ฟื้นฟูพลังบ้าง

การฟังทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญ คนที่พิการทางหูก็สามารถฟังได้ หรืออาจได้ดีกว่าคนหูไม่พิการเสียอีก

ฟังเสียงธรรมชาติ ลมฟ้าอากาศ ผู้คน เสียงสรรพสัตว์ เสียงหัวใจและร่างกายตัวเอง หากเราฝึกใจให้ฟังได้อย่างลุ่มลึก มีประสิทธิภาพ เราจะได้ยินเสียงมากมาย ความรู้ในจักรวาลที่รายล้อมรอบตัว

การเฝ้าสังเกต

การเฝ้าสังเกตก็คล้ายกับการฟังในแง่ที่ว่า ใช้ใจที่สงบสงัดสัมผัสกับสิ่งที่สังเกต ในแง่นี้ เราอาจใช้ดวงตาในการสัมผัสและเรียนรู้โลก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เราเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

นักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนค้นพบทฤษฏีต่าง ๆ จากการเฝ้าสังเกตและคิดในความเงียบ

ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนก็เช่นกัน ค้นพบวิธีการลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่ง จากการเฝ้าสังเกตคลื่นลม จนเกิดความรู้ว่า จะจัดการปัญหานี้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ประหยัด และก่อประโยชน์ได้อย่างไร — ก็เอาไม้ไผ่ปักเป็นเขื่อนบริเวณนอกชายฝั่ง ลดแรงปะทะของคลื่น แถมไม้ไผ่ที่ปักนั้นยังเป็นที่เกาะของหอย ให้เราไปเก็บกินได้อีกด้วย

ทั้งการฟังและสังเกต เป็นทักษะที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแต่เราต้องให้เวลา ไม่คาดหวัง คาดคั้นผล และเมื่อสภาวะใจของเรานิ่งเงียบ ความรู้บางอย่าง หรือหลายอย่างจะไหลผ่านเข้ามา โดยไม่ต้องคิดหรือคาดเค้นกันเลย

หากเราฝึกบ่อย ๆ คือ ฝึกให้ใจนิ่งเงียบ ความคิดดี ๆ สดใหม่ จะผ่านเข้ามาบ่อย ๆ — ท้าให้พิสูจน์

หนทางของการปฏิบัติด้วยตนเอง

พระพทธเจ้าตรัสว่า “การหลุดพ้น และบรรลุถึงเป้าหมายไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งมอง หรือเห็นพระพุทธเจ้า หากแต่มาจากความพยายามอย่างยิ่งยวด การฝึกฝนตนเองอย่างเอาจริงเอาจัง ทุกคนหลุดพ้นและบรรลุถึงเป้าหมายได้เพราะตัวเอง”

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของนักปฏิบัติที่เพียรพยายามและอดทนในการฝึกฝนตนอย่างต่อเนื่อง เพราะเหตุนี้ศาสนาพุทธจึงแย้งกับศาสนาบริโภคนิยม เพราะผู้คนในยุคบริโภคมักรอคอยการเสพ นั่งเฉย ๆ ให้คนป้อนสิ่งที่ตนปรารถนา สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ต้องพยายามมาก อยากได้อะไร ๆ เร็ว ๆง่าย ๆ ด่วนและสะดวก — แต่หนทางสู่พุทธะ เป็นในทางตรงกันข้าม

พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางวงจรการเรียนรู้ไว้ ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ คือ เรียนรู้ข้อมูล ความรู้ ไม่ว่าจากการอ่าน การฟัง ให้เข้าใจ แล้วนำไปทดลองปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติย่อมมีผล และเราต้องใคร่ครวญตั้งคำถามเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลภาคปริยัติให้เราทดลองปฏิบัติต่อไป เป็นวิถีเรียนรู้ไม่จบสิ้น

เราต้องแสวงหาความรู้ มีใจใฝ่รู้ และออกไปหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่รอคำตอบสุดท้าย สำเร็จรูปจากผู้อื่น

การรู้ที่ยิ่ง คือ การรู้ที่ผ่านปฏิบัติการในชีวิต คือ กายและใจของเรานั้นเอง

บาทหลวงเยซูอิดท่านหนึ่งพูดได้น่าประทับใจว่า “ความรู้ที่แท้อยู่ที่การพิสูจน์ในชีวิตจริง ชาวคริสต์จะพบว่าตัวเองรู้จริงในศาสนาของตนเองหรือไม่ เมื่อยืนต่อหน้าผู้ซึ่งทำร้ายเรา ความรู้ของเราจะถูกทดสอบว่า เมื่อโดนทำร้าย เราจะสามารถหันแก้มซ้ายให้ศัตรูตบได้หรือไม่ สันติอหิงสาเป็นความรู้จริงสำหรับเราหรือไม่ ความรู้ที่ไม่ผ่านการพิสูจน์ หรือปฏิบัติให้เห็นจริง ไม่ถือว่าเป็นความรู้” 

การสนทนากับผู้อื่น

ในระบบวิธีการเรียนรู้ในพุทธศาสนา เราจะเห็นการสนทนาระหว่างพระพุทธองค์กับพระสาวก เป็นการตั้งคำถามให้ครุ่นคิด พระพุทธองค์มักไม่ตอบ แต่ท่านจะชวนถาม ชวนคิด ชวนมอง จนผู้ฟังได้คำตอบจากใจตนเอง (สรุปความจากหนังสือ พุทธวิถีการสอน โดยพระธรรมปิฏก)

ในวัฒนธรรมพุทธศาสนา วัชรยาน หรือเซนเอง ก็มีการปุจฉา วิสัชนา  

ถ้าจะลองมาเทียบเคียงในชีวิตประจำวันของเรา เราสนทนากันให้เกิดปัญญาและเรียนรู้ได้อย่างไร

เราสนทนา โต้เถียง แย้งกัน เพื่อร่วมกันหาความจริง ในทางนี้ ความคิดเห็นที่ต่างจะไม่เป็นปัญหา เพราะเราต้องการแสวงหาคำตอบที่ดีที่สุดร่วมกัน

แต่ที่เห็นในปัจจุบัน คือ เราเถียงกันเพื่อปกป้องความคิดเห็นของกันและกัน เราไม่ได้คุยกันเพื่อแสวงหาความจริง เราจึงเข้าไม่ถึงความจริง และทะเลาะกันเพื่อปกป้องอัตตา

สติและสมาธิ

สติสัมปชัญญะ และสมาธิ เป็นหัวใจของการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับทุกทักษะการเรียนรู้ที่กล่าวแล้วข้างต้น

สติเตือนเราให้รู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังทำอย่างไร อยู่ในร่องในรอยหรือไม่

สมาธิทำให้ใจนิ่ง โฟกัสกับเรื่องราวบางอย่าง และจากพลังความชัดเจนกระจ่างของใจ เราจะเห็น ได้ยินสิ่งที่เรียนรู้ได้มากขึ้น

ทั้งสติและสมาธิ จะพาใจให้นิ่ง ว่าง และในความนิ่งว่างนั่นเอง ที่ความรู้ทั้งหลายจะไหลเข้าสู่ใจ

“เพราะว่าง จึงมีทุกสิ่ง”

2 responses to “มาเรียนเป็นนักเรียนรู้กันเถอะ

  1. อืมมมมมมมมม

    เห็นด้วยค่ะ

    ปัญหาของ หนู คือ สติ กับสมาธิ นี่อะคะ

    หนูจะขวนขวายฟังธรรมะตลอด

    มีใจรักในทางด้านนี้ (ธรรมะค่ะ)

    แฟนก็ไม่มีเป็นตัวเป็นตน

    ไม่สนใจเรื่องความสวยความงาม

    จะเรียกว่าผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนๆเลย

    แต่หนูต้องฟังบ่อยๆ เพราะว่าตอนฟังก็เข้าใจ แต่มันจะลืมไปได้ง่ายๆเลยค่ะ

    คือ หนูไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ งัยค่ะ

    บางทีเอามาประยุกต์ใช้ก็มีทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง

    การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องแท้จริงนั้นยากมากๆ

    บางทีเรารู้หลัก คือมีความรู้แล้ว

    แต่ก็ยังนำมาปฏิบัติไม่ค่อยได้

    อ้อๆๆ แต่หนูมีข้องเสียอะค่ะ

    คือหนูไม่ชอบฟังคนอื่น อาจเป็นเพราะว่าตนเองไม่มีทักษะการฟังมั้งคะ

    แล้วก็ไม่ค่อยสังเกต

    สองเรื่องนี้แหละค่ะ ที่หนูต้องขอขอบคุณพี่อุ๊มากนะคะ

    ที่นำเรื่องราวดีๆมากบอกกัน

    ^^

    • รู้ไหมคะว่า การรู้จักตัวเอง ทั้งส่วนดีและด้อยเป็นประตูสู่การเปลี่ยนแปลง น้องรู้ว่า ตัวเองขาดทัษะการฟัง สังเกต สติ สมาธิ (จริง ๆ แล้ว ทุกคนก็ขาดเหมือนกันแหละค่ะ แฮะๆๆๆ) เมื่อรู้แล้ว ก็ตั้งใจฝึกฝนไป มีแค่นั้นจริง ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จะดีขึ้น เป็นกำลังใจให้ค่ะ เติบโตไปด้วยกันเนอะ 🙂

Leave a comment