เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ : หนังสือเพื่อความเจริญงอกงามในชีวิตและสังคม

เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ : หนังสือเพื่อความเจริญงอกงามในชีวิตและสังคม

cover08

ปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ ๓

เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ : คู่มือเรียนรู้และทดลองปฏิบัติการบูรณาการแบบระบบที่มีชีวิต เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในสังคม

เขียนโดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ สุภาพ สิริบรรสพ และกรรณจริยา สุขรุ่ง

จำนวน 442 หน้า ราคา 280 บาท

สนับสนุนการพิมพ์โดย สสส.

จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ สุขภาพใจ

วางจำหน่ายที่ร้าน Se-Ed ทุกสาขา ร้านหนังสือนายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

—————————————————————————–

เมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า บูรณาการ เกี่ยวข้องอะไรกับเมล็ดพันธุ์ ทำไมคณะผู้เขียนจึงนำ ๓ คำ คือ เมล็ดพันธุ์ ชีวิต และบูรณาการ มาเรียงและกอปรกันเป็นชื่อหนังสือ

คำตอบบางส่วน ท่านจะอ่านพบได้ในหนังสือ แต่คำตอบอีกหลายส่วน ท่านจะพบได้จากการนำหลักการที่อ่านพบไปครุ่นคิดต่อ และลงมือทดลองทำในพื้นที่ชีวิตและสนามการทำงานจริง ซึ่งผู้อ่านหลายคนจากต่างแวดวง ทั้งสาธารณสุข การศึกษา ประชาสังคม และภาคธุรกิจ ได้ช่วยสะท้อนความเห็นว่า หนังสือ เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ เป็นหนังสือที่มีชีวิต งอกงามเติบโตไปพร้อม ๆ กับพวกเขา

“บูรณาการไม่ใช่งาน แต่เป็นกระบวนการของชีวิต ที่วิวัฒน์ไม่หยุดนิ่ง เป็นชีวิตที่สมดุลในความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ที่ใด มีการบูรณาการ ที่นั่น มีความเจริญงอกงามของชีวิต” เป็นคำกล่าวของ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้รวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ มาเป็นชุดความเข้าใจเรื่อง “บูรณาการ” ในแบบที่จับต้องและลงมือปฏิบัติการได้

“บูรณาการ” เป็นคำที่คุ้นหู และพูดกันติดปาก จนเราแอบเชื่อโดยสุริตใจว่า เราเข้าใจและได้ทำการบูรณาการกันแล้วจริง ๆ ทว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ วิทยากรกระบวนการด้านการพัฒนาศักยภาพภายใน สู่การปฏิรูปองค์กรและสังคม ชวนให้เราสำรวจตนเองว่า “เราเข้าใจการบูรณาการแน่แล้วหรือ บูรณาการหมายความว่าอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะเป็นการบูรณาการ”

ในหนังสือเกริ่นขยายความเรื่องนี้ว่า “นับตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ คือ ราวปี พ.ศ. ๒๕๔๐ “บูรณาการ” เป็นหนึ่งในหลักคิดและแนวทางสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ นำมาใช้ทำแผนงาน นโยบาย ยุทธศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะบูรณาการงานวิจัยแห่งชาติ บูรณาการแก้ปัญหาความยากจน บูรณาการแก้ปัญหาไฟใต้ บูรณาการการจัดการน้ำ ฯลฯ กล่าวกันว่า การบูรณาการจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน แก้ปัญหาและพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น

แต่ความจริงในบ้านเมืองทุกวันนี้เป็นเช่นไร

ข่าวสารบ้านเมืองในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาแสดงภาพปัญหาที่หนักหนาสาหัส ปัญหาความยากจน ความไม่เป็นธรรม ปัญหาที่ดินทำกินทางการเกษตร ปัญหาการศึกษา ยาเสพติด คอร์รัปชั่น ทวีความรุนแรง สลับซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วยังมีปัญหาใหม่ ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงาน นอกจากนั้นแล้ว ในช่วง ๓ – ๔ ปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็นภาพความร้าวฉานของคนในสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางความคิดและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่ทำให้คนไทยหลายคนพรั่นพรึงว่า จะพัฒนาไปสู่สงครามกลางเมือง”

นี่คือช่องว่างระหว่างความเชื่อกับความเป็นจริง คือ ยิ่งเราพูดคำว่า “บูรณาการ” มากและบ่อยขึ้นเท่าไร ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของสังคมดูจะยิ่งถดถอย

กว่า ๓ ปี แห่งการเพียรแกะรอยทางคำตอบ “บูรณาการ” อาจารย์ชัยวัฒน์สืบค้นจากตำราวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พุทธธรรม หลักการเต๋า และพูดคุยกับนักปฏิบัติการทางสังคมจำนวนมาก — สกัดกลั่นเนื้อหา วิธีการ แบบฝึกหัด ถักทอและร้อยเรียงเป็นกระบวนการอบรม และถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่ง นายแพทย์ บุญยงค์ วงศ์รักมิตร แห่งโรงพยาบาลน่าน ได้ให้คำนิยมไว้ว่า เป็นหนังสือที่นำเสนอคำนิยามการบูรณาการได้อย่างตรงใจ

“…“บูรณาการ” มีผู้ให้นิยามที่ค่อนข้างหลากหลายมาตั้งแต่คำนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกัน อาจกล่าวได้ว่า ร้อยคนก็ให้ ร้อยนิยาม หนังสือเล่มนี้มีคำตอบของนิยามได้อย่างตรงใจ เป็นคำตอบสุดท้ายที่หลายคนรอคอย …”

หลายคนอาจจะคุ้นกับเนื้อหาหลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีไร้ระเบียบ วิธีคิดกระบวนระบบ กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ใหม่และโลกทัศน์ที่มีชีวิต ภาวะผู้นำ หลักปรัชญาเต๋า พุทธธรรม สุนทรียสนทนา ทฤษฎีเครือข่ายและชุมชนปฏิบัติการ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นจากหนังสือที่มีเนื้อหาต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น คือ การที่อาจารย์ชัยวัฒน์ “บูรณาการ” เนื้อหา กระบวนการ เทคนิคต่าง ๆ ให้เข้ากัน และนำเสนออย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจหลักปรัชญาบูรณาการ ได้เห็นเครื่องมือที่จะทดลองใช้เพื่อทำงานบูรณาการได้จริง

นายแพทย์ อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล แห่งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เขียนคำนิยมให้หนังสือเล่มนี้ว่า “…หนังสือเล่มนี้…ประมวลทั้งแนวคิดและเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานไว้อย่างเพียงพอที่จะใช้เป็นคู่มือการทำงาน คู่มือในการฝึกฝนตนเอง และเป็นอีกหนทางหนึ่งในการที่จะนำผู้คนให้ค้นหาความหมายและแก่นแท้ของชีวิต โดยไม่ต้องเรียกว่าศาสนา แต่สามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนาได้โดยไม่ต้องติดอยู่กับรูปแบบหรือพิธีกรรม…”

แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือปฏิบัติการบูรณาการ (How to) แต่ในความจริง เนื้อหาเน้นหลักคิด ปรัชญา (know why) เสียมากกว่า อาจารย์ชัยวัฒน์เห็นว่า การทำความเข้าใจหลักคิด หลักการจะช่วยให้เราต่อยอด สร้างสรรค์หลักปฏิบัติได้หลากหลายสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ผันแปร ดั่ง ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่ ที่ไม่ได้บอกขั้นตอนปฏิบัติการ หากแต่ให้หลักคิดเพื่อให้ผู้ใช้นำไปพลิกแพลงเอาเอง ตามบริบทเหตุการณ์ ซึ่งนี่เอง ที่ทำให้หลักการของซุนหวู่ข้ามพ้นกรอบแห่งกาลเวลา และบริบทของสถานที่

อันที่จริง การบูรณาการมีอยู่แล้วในวิถีธรรมชาติ และกระบวนทัศน์ชีวิตของชาวตะวันออก ซึ่งปรากฎอยู่ในหลักพุทธธรรม เต๋า และกระบวนทัศน์ของชนเผ่าต่าง ๆ ที่ผูกพัน และมองเห็นความเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง

บรรพบุรุษชาวสยามเองก็จัดได้ว่า เป็นนักบูรณาการชั้นยอด ผู้หลอมรวมศาสตร์และศิลป์ต่าง ๆ ที่ไหลเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ให้เข้ากับจริตและสิ่งที่มีอยู่เดิมในพื้นถิ่น จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์สยาม ที่ไม่ใช่การก้อปปี้ลอกคนอื่นทั้งดุ้นอย่างที่คนยุค “แดกด่วน” มักทำกัน

บูรณาการจึงไม่ใช่โครงการ ยุทธศาสตร์ นโยบาย หากแต่เป็นกระบวนการของชีวิต กระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ดั่งเมล็ดพืชที่บูรณาการตนเองกับดิน น้ำ อากาศ จนเติบโตเป็นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาและดอกผลเป็นประโยชน์เกื้อกูลชีวิตอื่น ๆ ชีวิตคนก็เช่นกัน เราเกิด เติบโตได้ ก็ด้วยการบูรณาการตนเองกับปัจจัยภายนอก

หัวใจของงานเชิงบูรณาการจึงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างสานสัมพันธ์ระหว่างเรากับสรรพสิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างกายและใจ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว คนในองค์กร ชุมชน สังคม และคนกับสิ่งแวดล้อม

สุดท้าย เป้าหมายปลายทางของงานบูรณาการ คือ สร้างคน สร้างความเจริญงอกงามของชีวิตและสังคม ส่วนงานและผลงานที่เกิดนั้น จัดเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการทำงานของคนที่มีคุณภาพ

ทุกวันนี้ การบูรณาการที่เราเชื่อว่ากำลังทำอยู่นั้น ไม่เน้นพัฒนาคน ไม่ใส่ใจในการสร้างและสานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อม เราบูรณาการแบบเห็นคนเป็นเครื่องจักร มองมนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองขององค์กร ของโครงการ ที่เมื่อเสีย ก็ถอดออก โยกย้ายไป แล้วหาฟันเฟืองใหม่เข้ามาแทน เรามองว่า การให้คนมารวมตัวในที่เดียวกันนั้น คือ การบูรณาการ แต่ไม่สังเกตว่า การรวมตัวกันนั้นสร้างหรือหลอมพลังกันหรือไม่ ไปในทิศทางใด โดยสรุปก็คือ เราบูรณาการตามกระบวนทัศน์แบบกลไกไร้ชีวิต และนี่เอง คือ เหตุที่งานบูรณาการไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะเราเดินผิดทิศ ทำงานผิดกระบวนทัศน์

วิถีการบูรณาการเป็นเรื่องธรรมชาติก็จริง แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายนัก อุปสรรคหลัก คือ โลกทัศน์แบบกลไกที่ฝังลึกในความคิดและจิตใจของเรา

ทว่า เมื่อเราตระหนักถึงโลกทัศน์กลไกในใจ และพยายามฟื้นคืนความสัมพันธ์กับโลก ตามกระบวนทัศน์ที่มีชีวิต วิถีบูรณาการก็จะค่อย ๆ กลับมามีชีวิตภายในตัวเรา ในองค์กร และสังคม — และหนทางนี้ ไม่มีอื่น นอกจากการเรียนรู้ ฝึกฝน ทดลองปฏิบัติการบูรณาการอย่างมีชีวิตชีวา เหมือนชีวิตที่วิวัฒน์ไปไม่จบสิ้น

————————————————————-


cover08 ปรับปรุงใหม่ พิมพ์ครั้งที่ ๓

 เมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ คู่มือเรียนรู้และทดลองปฏิบัติการบูรณาการแบบระบบที่มีชีวิต เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะในสังคม

เขียนโดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ สุภาพ สิริบรรสพ และกรรณจริยา สุขรุ่ง

จำนวน 442 หน้า ราคา 280 บาท

สนับสนุนการพิมพ์โดย สสส.

จัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ สุขภาพใจ

วางจำหน่ายที่ร้าน Se-Ed ทุกสาขา ร้านหนังสือนายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

ลด 15% หากซื้อที่บู้ทสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๙ มีนาคม – ๘ เมษายน ๒๕๕๖

ลด 10% ค่าจัดส่งฟรี (ถ้ามูลค่ารวมถึง 300 บาท) เมื่อสั่งซื้อทาง www.booktime.co.th หรือ webmaster@booktime.co.th หรือโทร 024152621

—————————————————————————————–

หมายเหตุ ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ

แผนที่การเดินทางเวทีเรียนรู้ และหนังสือเมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ

(คัดลอกมาจากบทที่ ๑ ในหนังสือเมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ)

เราจะเรียนรู้สิ่งใด เราต้องแง้มใจ เปิดให้สิ่งใหม่เข้ามาในประตูใจของเราได้บ้าง เราจึงเริ่มบทแรกของหนังสือเล่มนี้ ด้วยการชวนให้ทุกท่าน “เปิด” ทั้งเปิดจิต เปิดใจ และเปิดเจตจำนงชีวิต

การเปิดเกี่ยวข้องกับการบูรณาการอย่างมาก เรามักกล่าวถึง “บูรณาการ” ในความหมายว่า “หลอมรวม” การหลอมรวมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรา “เปิด” ให้สิ่งต่าง ๆ ไหลเข้าหากัน และคนแรกที่เราต้องเริ่มเปิดเข้าหา คือ ตัวของเราเอง

การบูรณาการเป็นกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายใน และภายนอก เราคือผู้บูรณาการสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น งานแรกที่ต้องทำ คือ บูรณาการตนเอง เปิดเข้าสู่โลกภายใน ทำความรู้จักตนเอง ค้นหาความหมายของชีวิตและการงาน — เรามีชีวิตเพื่ออะไร อะไรคือความหมายของงาน (บูรณาการ) ที่ทำอยู่ ความหมายของชีวิตกับงานสอดคล้องกันหรือไม่ งานที่ทำมีความหมายอย่างไรต่อสังคมที่เกื้อกูลชีวิตของเรา

การพบความหมายในชีวิตและดำเนินชีวิตตามความหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เพียงต่อตัวเราเอง แต่ต่อสังคมด้วย โดยเฉพาะสังคมไทยในเวลานี้ ที่เต็มไปด้วยวิกฤตนานา เมื่อเราพบความหมายภายใน เราจะพบกับความปิติใจ เกิดพลังความมุ่งมั่นในการดำเนินชีวิต และนำพลังนั้นออกมารับใช้สังคม ความปิติใจและพลังของบุคคลแต่ละคนนั่นเองคือพลังของสังคม

ในโลกยุคกดปุ่ม ผู้คนมักแสวงหาเทคนิควิธีที่ง่ายและเร็ว เพื่อแก้ปัญหาหรือทำเรื่องต่าง ๆ ให้ทันใจ ทว่าหลายเรื่องในชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ตามใจเรา และไม่มีสูตรสำเร็จ หลักสูตรเวทีเรียนรู้บูรณาการจึงไม่เน้นเทคนิคและวิธีการ (know-how) แต่เน้นหลักคิด (know-why) เพื่อให้เรานำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอยู่เสมอ สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์เน้นมากในหลักสูตรการอบรม คือ ปรัชญาและชีวิตวิถีบูรณาการ

ปรัชญา คือ แก่นความรู้ หลักความจริงอันเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตและทำงาน ทั้งในส่วนบุคคลและการอยู่ร่วมกันในสังคม

เมื่อเราน้อมนำหลักปรัชญามาปฏิบัติ เราก็จะเข้าใกล้ เข้าถึงแก่นความจริงของปรัชญานั้น ๆ อย่างปรัชญาพุทธศาสนาให้หลักความจริงของธรรมชาติ ซึ่งหากเรานำไปปฏิบัติ ก็จะเข้าถึงวิถีแห่งพุทธะขึ้นไปเป็นลำดับ หลักปรัชญเต๋าให้แนวทางที่เราจะนำไปประยุกต์ในชีวิตเพื่อเข้าถึงสภาวะแห่งเต๋า คือ ความสมดุลกลมกลืนกับโลก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แนวคิดหลักการดำเนินชีวิต ที่จะสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตัวเองได้ให้กับผู้ที่น้อมปรัชญานี้ไปปฏิบัติ —ปรัชญาทั้งหลายจึงเป็นหลักแห่งปฏิบัติการ มากกว่าที่จะเป็นหลักให้เราพูดคุย ถกเถียง

ในบทนี้ เราพยายามทำความเข้าใจปรัชญาพื้นฐานของการบูรณาการ ด้วยเชื่อว่า เมื่อเราเข้าใจหลักปรัชญา เราจะเห็นแนวทาง วิถีปฏิบัติที่จะพาเราสร้างสรรค์งานเชิงบูรณาการได้สมตรงตามความหมายและเป้าหมายที่ตั้งใจ

การทำความเข้าในปรัชญาบูรณาการสัมพันธ์กับวิธีที่เรามองโลก (โลกทัศน์) ด้วย เมื่อเราพูดว่า “เราต้องบูรณาการกัน” จินตภาพของโลกการบูรณาการของเราเป็นอย่างไร ในบทนี้ เราจะสำรวจโลกทัศน์ภายในทั้งของบุคคล และสังคมว่า เรามีโลกทัศน์ในการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไร และโลกทัศน์ที่เป็นเหมือนแว่นตาส่องมองสิ่งต่าง ๆ ที่เราสวมอยู่นั้น เอื้อต่อการทำงานเชิงบูรณาการหรือไม่ เพียงใด — หรือเราต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ ?

การงานต่าง ๆ เกิดขึ้นจากมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้ปฏิบัติการงานต่าง ๆ ดังนั้น การงานจะมีคุณภาพ เกิดผลสมดังที่ปรารถนาหรือไม่ ก็ขึ้นกับศักยภาพและสภาวะความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ทำการงานนั้น ๆ ศักยภาพและสภาวะที่เราพูดถึงในที่นี้ คือ ภาวะความเป็นผู้นำ ยิ่งมนุษย์มีภาวะผู้นำลึกซึ้งเท่าไร ภาวะการนำก็จะยิ่งกว้างขวางและสร้างผลสะเทือนกว้างไกลเท่านั้น

ภาวะผู้นำบนวิถีบูรณาการที่มีชีวิต ที่เราหมายถึง คือ ผู้นำที่นำความเจริญงอกงามสู่ชีวิตตนเองและผู้อื่น ผู้ที่สามารถประสานรอยร้าวและปลูกรักในใจผู้คน ให้ร่วมกันทำในสิ่งที่มีความหมายต่อส่วนรวม และที่สุดของภาวะผู้นำ คือ ความเป็มมนุษย์ที่แท้

เราทุกคนมีศักยภาพในการเป็นผู้นำ (มนุษย์ที่แท้) เพราะผู้นำที่แท้ที่กล่าวไปนั้น ไม่ได้ติดอยู่กับยศ ตำแหน่ง เครื่องแบบใด ๆ ไม่เกี่ยวกับเงินในธนาคาร อำนาจหน้าที่จากองค์กรสถาบัน ไม่ต้องติดอาวุธ เราเป็นผู้นำได้ด้วยอำนาจภายในตน ซึ่งก็คือ อำนาจทางใจและจิตวิญญาณ อันได้แก่ เจตจำนงมุ่งมั่นในสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิต อำนาจอันเกิดจากการฝึกฝนอบรมตนอยู่เสมอ อำนาจจากปัญญาที่เข้าในโลกและความเป็นจริง และอำนาจของจิตใจที่เสียสละรับใช้ผู้อื่นและรับใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง เช่น พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้า

ในยุคสมัยแห่งความซับซ้อนปั่นป่วนเช่นนี้ สังคมไทยและสังคมโลกยิ่งต้องการผู้นำในลักษณะนี้มากขึ้น และเราทุกคนสามารถเป็นได้ โดยเริ่มจากการนำตัวเอง เชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่บนหนทางแห่งการฝึกตนด้วยกัน เกิดเป็นเครือข่ายผู้นำผู้สร้างสรรค์คงามเจริญงอกงามให้สังคม 

จากหลักปรัชญาบูรณาการ และความเข้าใจภาวะผู้นำ ในส่วน สู่วิถีบูรณาการ : หลักการและทฤษฎีกระบวนการปฏิบัติ เรานำเสนอทฤษฎีกระบวนการบางอย่าง เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับการลงมือปฏิบัติการ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจลองนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ 

บริบทชีวิตและบ้านเมือง มนุษย์อยู่ในกาละและเทศะเสมอ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องตระหนักเห็นบริบทแวดล้อม และปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกลมกลืนกับบริบทแวดล้อมนั้น ๆ เป็นการบูรณาการตัวเองกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบทนี้ เรานำเสนอ หลักคิด และแนวทางประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน เห็นตัวเรา เห็นผู้อื่น เห็นสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มของอนาคต เพื่อที่เราจะได้วางแผนงานบูรณาการ ให้สอดคล้องกับความจำเป็น และความต้องการของชีวิต ท่ามกลางบริบทบ้านเมือง และโลกที่เป็นอยู่ และกำลังจะเป็นไป

การคิดกระบวนระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานบูรณาการ และการอยู่ในโลกซับซ้อนเป็นพลวัต การคิดกระบวนระบบ ไม่ใช่การคิดเป็นระบบ แบบตรรกะทางคณิตศาสตร์กลไก แต่หมายถึง การคิดจากการเห็น (เรื่องราวต่าง ๆ) ทั้งระบบ เห็นข่ายใยความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดทั้งสิ้น

บูรณาการเป็นเรื่องการประสาน เชื่อมร้อยสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยมุมมองแบบองค์รวม การฝึกคิดแบบกระบวนระบบจะช่วยให้เราเห็นความเป็นเอกภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่สัมพันธ์และส่งผลกระทบถึงกันตลอดเวลา เมื่อเราเห็นเส้นใยแห่งความสัมพันธ์นี้ เราย่อมจะมองเห็นทางที่จะเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อรังสรรค์ปรากฎการณ์ที่ปรารถนา หรือตัดทอนบางอย่างที่สร้างวงจรอุบาทว์ในสังคม

การเปลี่ยนแปลง — เวลาที่เรานึกถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เรามักนึกไปถึงการลงมือทำแบบปะทะกับสิ่งที่เราไม่ชอบใจ เผาผลาญทำลายสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เปลี่ยนเอาคนหรือระบบที่ไม่เราไม่ชอบออกไป เพื่อจะได้สร้างสิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ต้องใช้พลังมาก และผู้ที่เข้มแข็งกว่าย่อมมีโอกาสที่จะชนะ ทว่า ชัยชนะและผลที่เกิดขึ้นก็มักจะไม่ยั่งยืน

ในบทพลังแห่งปฏิบัติการอันนุ่มนวล เราจึงนำเสนอปฏิบัติการเล็ก ๆ ที่มีความหมาย เป็นพลังปฏิบัติการอันนุ่มนวลที่ซึมซาบ หยั่งลึกเข้าไปถึงวิธีคิด วิถีชีวิต สร้างผลสะเทือนยิ่งใหญ่ กว้างไกล และยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในพลังนี้ก็คือพลังการสนทนา

การสนทนาให้เกิดพลังและผลิดอกออกผล (งาน) อาจกล่าวได้ว่า เรื่องนี้เป็นหัวใจของงานบูรณาการเลยก็ว่าได้ งานบูรณาการ คือ งานเชื่อมพลัง เราจะเชื่อมพลังกันได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะสนทนากันให้ “ได้ใจ” สร้างพลัง นำไปสู่การคิดร่วมกัน และลงมือทำการงานต่าง ๆ ร่วมกัน

ในบทนี้เรานำเสนอกระบวนการจัดประชุมที่จะช่วยสร้างสานพลังใจคน ทักษะสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุม และผู้นำการประชุม ควรฝึกฝนและตระหนักรู้ในเวลาที่สนทนา รวมถึงการดูแลสนามแห่งพลังของการสนทนาเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจของผู้คน

ทีม ชุมชนและเครือข่ายเรียนรู้และปฏิบัตการ เราอยู่ในโลกแห่งเครือข่าย ที่สิ่งมีชีวิต ในโลกแบบนี้ การจัดการและสั่งการจากศูนย์กลางและใช้มาตรฐานกลาง ไม่อาจรับมือกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน แตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นถิ่นได้ หนำซ้ำ ความพยายามที่จะจัดการจากศูนย์กลางแบบเป็นมาตรฐานเดียว จะยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นอีก

เราต้องเปิดโอกาสให้หน่วยเล็ก ๆ ในสังคม — ชุมชน องค์กร เครือข่าย จังหวัด มีศักยภาพและทักษะในการดูแลตนเองและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองได้ นอกจากนั้น เนื่องจากโลกโยงใยกันทั้งหมด เหตุการณ์ในท้องที่หนึ่งย่อมมีผลทางใดทางหนึ่งกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ดังนั้น หน่วยย่อย ๆ ต่าง ๆ ในสังคมต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้เป็นเครือข่ายที่มีศัยกภาพ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน เหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เป็นตัวอย่างชัด ที่แต่ละท้องที่ต้องสามารถจัดการพื้นที่ของตัวเองได้ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมความร่วมมือประสานกันเพื่อให้รับมือน้ำท่วมร่วมกันด้วย อย่างเป็นเอกภาพ

ชุมชนจัดตั้งและจัดการตัวเองไม่ใช่เรื่องของรูปแบบ ระเบียบกฏหมาย โครงสร้างอาคาร หัวใจของชุมชนจัดตั้งตนเองอยู่ที่ความสามารถของชุมชนและเครือข่ายในการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ยกระดับการเรียนรู้ของตัวเองได้ สื่อสารข้อมูลความรู้ทั่วถึง รู้สึกเชื่อมโยงและสนิทชิดเชื้อกัน และมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในบทนี้ เราจึงนำเสนอแนวทางต่าง ๆ ที่จะช่วยบ่มเพาะชุมชนเรียนรู้และปฏิบัติการ

เรารู้ว่าโลกกลม แต่โลกของเรายังแบนอยู่ อย่างไร? เรามักมองเรื่องราวต่าง ๆ อย่างแบน ๆ เป็น ๑-๒ มิติ เราขาดมิติในการมองให้รอบด้านหลากมิติ ทั้งกว้างและลึก อย่าง เวลาทำงาน เรามักมุ่งที่ผลของงาน จนเสียความสัมพันธ์กับทีมและครอบครัว รวมถึงบั่นทอนสุขภาพตัวเองด้วย หลายคนทำงานเรื่องความสุข บนความทุกข์ของตัวเองและครอบครัว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ยังห่างจากวิถีบูรณาการ โมเดล ๓ มิติ ๓ ระดับบูรณาการ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเราคิด วางแผน และประเมินผลงานให้รอบด้าน เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ทั่วกัน ทั้งตัวเรา องค์กร ชุมชนและสังคม

เรามักได้ยินคำว่า “บูรณาการ” จากรัฐ ราชการ คนทำงานในภาคสังคม คำนี้มักถูกยึดโยงกับการทำงาน รูปแบบวิธีปฏิบัติการ ที่ดูเหมือนจะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา เช่น บูรณาการการจัดการน้ำ หรือสร้างสรรวิถีอะไรใหม่ ๆ เช่น บูรณาการการศึกษา แต่ลึกไปกว่านั้น เราเห็นหรือไม่ว่า “บูรณาการ” เป็นกระบวนการสร้างทุนทางสังคม

หากเราเข้าใจและปฏิบัติการบูรณาการได้สอดคล้องกับความหมายของปรัชญาบูรณาการแล้ว สังคมจะมีทุนมหาศาล ทุนที่สำคัญ คือ ทุนมนุษย์ที่มีภาวะผู้นำ

การบูรณาการเริ่มจากคนแต่ละคนเข้าถึงศักยภาพภายใน ความหมายของชีวิต ผู้ที่เดินอยู่บนหนทางนี้จะพัฒนาบ่มเพาะความเจริญในตน เกิดภาวะผู้นำที่คิดรับใช้ผู้อื่น สร้างสายสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน มีความรักเอื้ออาทรต่อกัน เกิดเป็นองค์กร ชุมชน สังคมที่ร่วมมือร่วมใจ และเจริญไปในทิศทางที่มีความหมาย

เราจะมีสังคมที่พัฒนาความฉลาดทั้งในมิติความรู้ อารมณ์ ความเข้าใจสังคม และที่สำคัญ การบูรณาการสูงสุดเข้าไปถึงระดับจิตสำนึกวิญญาณ เป็นทุนทางจิตวิญญาณ ที่พาให้สังคมรอดพ้นวิกฤตต่าง ๆ ที่มีรากเหง้าจากความไม่รู้ ความโกรธ เกลียด และความโลภ

เรามีปรัชญา ความรู้ ทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย สิ่งดี ๆ ทั้งหลายจะไม่ช่วยให้ชีวิตและสังคมของเราดีขึ้นเลย หากเราไม่นำความรู้มาสู่การปฏิบัติ ลงมือทำ ฝึกฝนให้เห็นจริงว่า ความรู้เหล่านั้นใช้ได้ และเป็นประโยชน์กับเราจริงหรือไม่

ในบท หนทางแห่งการฝึกตน : ทักษะสำคัญของผู้นำบูรณาการ เราคัดสรรความรู้และทักษะบางอย่างที่เห็นว่า หากทำความเข้าใจและฝึกฝนอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเข้าสู่วิถีบูรณาการที่มีชีวิต

สิ่งที่นักบูรณาการต้องใส่ใจฝึกฝนที่สุด คือ จิต ฝึกให้มีจิตใจนุ่มนวลควรแก่งาน ให้จิตสงบนิ่งและว่างพอ ที่ความคิดใหม่ ๆ จะผุดพรายขึ้นมาได้

สภาวะจิตเป็นเบื้องต้นและพื้นฐานสำคัญในการประกอบกิจต่าง ๆ ที่ผู้นำบูรณาการต้องฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง การฟัง การสังเกต การครุ่นคิดใคร่ครวญด้วยใจ การตั้งคำถามที่ดี การเล่าเรื่อง การอ่านและการเขียน ท้ายที่สุด สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ วินัยในการฝึกฝนตน วินัยคือการหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองนั้น จะเป็นรากฐานให้เกิดความเข้าใจ ความรู้ หรือวิชชาที่ฝังลึกในเนื้อในตัว นั่นเอง

เวทีเรียนรู้บูรณาการไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนรู้ภาคทฤษฎี แต่ยังมีการออกแบบให้ผู้ที่สนใจทดลองนำความรู้ไปใช้ในภาคสนามทั้งการงานและชีวิต ใน บทเรียนจากสนามเรียนรู้และทดลองปฏิบัติการบูรณาการ ผู้ประสานงานกลางของภาคเหนือ คือ คุณสุภาพ สิริบรรสพ ได้บอกเล่าแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมทำงานกับภาคประชาสังคม ประสบการณ์การเรียนรู้ของเธอร่วมกับคณะทำงานบูรณาการในแต่ละจังหวัด เรื่องราวความสำเร็จ และสิ่งที่ยังคงท้าทายศักยภาพการบูรณาการของพวกเรา

สุดท้าย วิทยากรกระบวนการ อาจารย์ ชัยวัฒน์ ร่วมเหลียวหลังเรียนรู้วิถีบูรณาการ สะท้อนข้อสังเกตจากกระบวนการอบรม และงานในพื้นที่ภาคสนาม ว่ามีอะไรที่เราควรใส่ใจเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติม อาทิ ความพิการทางการเรียนรู้ บูรณาการหลักลอย กำแพงแห่งตัวตน ความประมาทกับชีวิต ความคุ้นชินกับวิธีคิดแบบโลกทัศน์ระบบกลไก ฯลฯ

ทั้งวิทยากรกระบวนการ ผู้จดบันทึกและเขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ร่วมเดินทางเรียนรู้ ครุ่นคิด และฝึกฝนวิถีบูรณาการ ไปพร้อม ๆ กับผู้เข้าอบรมทุกคน เราตระหนักว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ไม่แจ่มชัดนัก แต่เราไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดเฝ้าสังเกต และไม่หยุดฝึกฝนตนเองให้อยู่บนวิถีบูรณาการที่มีชีวิต

เราจึงอยากเชื้อเชิญให้ทุกท่าน ร่วมครุ่นคิด ต่อยอด เพิ่มพูนความเข้าใจ และทดลองปฏิบัติการบูรณาการอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อให้เห็นจริงว่า ความรู้เหล่านี้สามารถช่วยเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสังคมไปในทางสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่ ผลจากการลงมือปฏิบัติจะเป็นข้อพิสูจน์ความรู้ และการเรียนรู้ร่วมกันของพวกเรา

อาจารย์ชัยวัฒน์มักกล่าวเสมอว่า “บูรณาการไม่ใช่งาน แต่เป็นกระบวนการของชีวิตที่วิวัฒน์ไม่หยุดนิ่ง เป็นชีวิตที่สมดุลในความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ที่ใด มีการบูรณาการ ที่นั่น มีความเจริญงอกงามของชีวิต”

Memoir of Myanmar # 1: ที่ระลึกแห่งความทรงจำ

Shwedagon มหาสถานแห่งพลังศรัทธา

Shwedagon มหาสถานแห่งพลังศรัทธา

หลายต่อหลายครั้งที่เราไปร่วมการอบรพัฒนาศักยภาพ ปฏิบัติธรรม หรือไปท่องเที่ยว — ในช่วงเวลาที่เว้นวรรคจากวิถีประจำวันที่คุ้นชินเหล่านั้น เรามักรู้สึกว่า ช่างเป็นเวลาแสนวิเศษ ชีวิตเป็นสุข และทุกอย่างดูเต็มไปด้วยความหวัง ทว่า เมื่อกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน พบปะผู้คนที่คุ้นเคย เรื่องราวที่มักเจอ ความรู้สึกดี ๆ พลังต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวไว้ก็ค่อย ๆ สลายหายไปในอากาศ และเราต้องไขว่คว้าหาช่วงพักเพื่อเติมพลังอีกครั้ง ๆ ๆ ๆ …

“ทำอย่างไร ให้การเรียนรู้ พลัง ความรู้สึกดี ๆ ที่เราได้รับจากการไปท่องเที่ยว การอบรมการปฏิบัติธรรม หรือการเข้าอบรมพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ ยังดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันได้” นี่เป็นคำถามที่ฉันได้ยินเมื่อหลายปีก่อน และเป็นคำถามสำคัญที่ท้าทายตัวเองมาโดยตลอด

สำหรับคน “งก” ฉันพยายาหาทางที่จะรักษาความทรงจำ ความรู้ และความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับมาให้คงอยู่และเจริญงอกงามไปเรื่อย ๆ ฉันพยายามเรื่อยมา และยังคงต้องพยายามต่อไป

ในคราวที่ไปเมืองย่างกอน ฉันได้รับความทรงจำที่งดงาม แรงบันดาลใจมหาศาลในชีวิต และไม่อยากให้ของดีที่ได้รับมาผุ กร่อนไปตามความเคยชิน

ในคืนสุดท้ายที่เราไปนมัสการพระมหาเจดีย์เชวงดากอง ฉันซื้อ “พระโลกานารถ” ในความเชื่อชาวพม่า ท่านเป็นเหมือนท้าวจตุโลกบาล พระภูมิเจ้าที่ แต่นัยยะที่ฉันชอบที่สุด คือ ท่านเป็นผู้นำสันติมาสู่สังคม ด้วยคีตและนาฏศิลป์

ท้าวโลกนาถ เทพผู้ใช้ศิลปะแห่งเสียงเพลงและการร่ายรำ นำสันติภาพมาสู่โลก

ท้าวโลกนาถ เทพผู้ใช้ศิลปะแห่งเสียงเพลงและการร่ายรำ นำสันติภาพมาสู่โลก

ฉันขอให้ท่านเป็น “เครื่องเตือนใจ” ให้ฉันระลึกถึงความหมายและภารกิจสำคัญในชีวิต

ชาวพม่าที่ฉันพบและสนทนาด้วย ไม่มีเครื่องลางของขลัง ไม่มีพระเครื่องห้อยคอ แต่พวกเขามีเครื่องเตือนใจเพื่อสร้างมงคลชีวิต — พระมหาเจดีย์ ซึ่งเป็นเสมือน landmark ในชีวิต พวกเขาจะไปนมัสการพระมหาเจดีย์บ่อย ๆ หรือมองขึ้นไปเห็นยอดเจดีย์ก็ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ ๆ

ชาวพม่าและวิถีปฏิบัติที่ฉันเห็นที่พระหาเจดีย์ ทำให้ฉันตระหนักถึงความงามของคำว่า “ปฏิบัติบูชา” เราไม่ได้ปฏิบัติ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตให้ผ่องใสมีปัญญา เพื่อตัวเรา แต่ทำเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

ฉันพบว่า เมื่อเรามีเป้าหมายหรือแรงบันดาลใจที่ไปพ้นจากประโยชน์ตนและตัวเอง เราจะได้รับพลังหนุนให้ทำสิ่งที่ดีและยากได้เพิ่มขึ้น เราจะมีพลังมากขึ้นในการปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาพระพุทธองค์ ปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาพระสงฆ์

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ฉันเคยได้ยินได้อ่านมาก่อน แต่มันไม่ “ถึงใจ” ในการเดินทางครั้งนี้ สิ่งที่ถึงใจที่สุด คือ คุณของพระสงฆ์ — ฉันไม่มีโอกาสได้พบและฟังคำสอนจากพระพุทธองค์ แต่เพราะมีพระสงฆ์ (ทั้งในผ้าเหลือง และที่เป็นคฤหัสถ์) ที่สละตน น้อมใจเดินตามเส้นทาง ศึกษาพระธรรมด้วยความพากเพียร และเมตตาถ่ายทอดธรรมให้ จึงทำให้ฉันมีโอกาสได้สัมผัสเค้าลางของความสุขจากรสพระธรรมบ้าง

ฉันนำพระโลกานารถไปที่ซุ้มพระ ในพื้นที่พระมหาเจดีย์ ที่เมื่อวันก่อน ฉันไปนั่งสวดมนต์และภาวนากับเพื่อน ฉันกลับไปที่นั่นอีกครั้ง สวดมนต์และอธิษฐานว่า จะนำแรงบันดาลใจทั้งหลายที่ได้รับจากพม่ากลับไปเมืองไทย และทำให้งอกงามในชีวิต

ที่เมืองไทย นอกจากพระโลกานารถแล้ว ฉันอัดและขยายรูปภาพพระมหาเจดีย์เชวงดากอง ขนาดใหญ่แบบปฏิทินติดผนัง และนำไปติดไว้ที่ห้องพระ

ทุกวันที่สวดมนต์เช้า-เย็น ฉันจะยกมือไหว้พระเจดีย์ด้วยทุกครั้ง ราวกับว่า ฉันยังอยู่ที่นั่น หรือพระเจดีย์อยู่กับฉันที่นี่ ฉันได้นมัสการพระเจดีย์ทุก ๆ วัน และย้ำเตือนตัวเองถึงคำอธิษฐานที่ได้ให้ไว้

ล่วงมาเกือบ ๓ เดือนแล้ว ฉันยังคงรักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง แม้บางวัน จะดูอ่อนแรงลงบ้างก็ตาม แต่การได้เห็นพระเจดีย์ก็ช่วยฟื้นความตั้งใจได้มาก และการเขียนบันทึกแรงบันดาลใจจากพม่า อย่างที่ฉันกำลังทำอยู่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งหนทาง ที่จะช่วยย้ำความตั้งใจให้หนักแน่นขึ้นไป

ความตาย ใ้ห้ ชีวิต

flower
        “กริ๊งๆๆๆๆๆๆ” เสียงแหลม หนัก ดังขึ้น … เหมือนเสียงกรีดร้องของ … อ้อ ของหัวใจฉันเอง

        เสียง … ไร้รูป แต่ก็เป็นได้หลากรูป แล้วแต่ใจปรุง

สำหรับฉัน เสียงกริ๊งๆๆๆๆ ที่ดังขึ้นนี้ได้กลายเป็นเหล็กแหลม ที่บรรจงกรีดหัวใจ ลึก ยาว ตามความยาวของเสียงนั้น

ได้วลาแล้ว … สัญญาณบอกให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายโลงศพเข้าเตาเผา

ในมือของฉัน มีดอกไม้งามดอกหนึ่ง ซึ่งคนเป็นไม่อยากได้ แต่คนตายพร้อมน้อมรับ

ฉันเดินถือดอกไม้นั้นเดินขึ้นเมรุ ความร้อนผ่าวออกมาจากเตาเบื้องหน้า

ไฟเหลืองส้มกำลังลามเลียไปตามโลงไม้

ฉันมองดอกไม้งามอีกครั้ง … ในยามที่ยังมีลมหายใจ เราเคยให้ดอกไม้อะไรกันบ้างไหม 

ฉันค่อย ๆ โยนดอกไม้เข้าไปในกองเพลิง แล้วถอยออกมายืนอยู่ห่าง ๆ

ดูไฟที่กำลังเผาไหม้โลงบรรจุร่างไร้ชีวิต

แล้วไฟที่กำลังเผาชีวิตผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ล่่ะ เราเห็นหรือไม่ ?

ฉันมองบรรยากาศของผู้คนที่อยู่บนเมรุ

ในความอาลัย มีความสงบ นิ่ง และงดงามอยู่

ชายหนุ่มคนหนึ่งยืนนิ่งสงบ โดยมีหญิงวัยเกษียณเกาะแขน ซบไหล่ ปาดน้ำตาบนใบหน้าอย่างเงียบ ๆ

หลายคนตรงนั้นส่งสายตาแห่งความห่วงใย ไปโอบประคองหัวใจของชายหนุ่มและหญิงเลยกลางคนคู่นี้

ฉันมองกลับไปที่เตาเผา … วันหนึ่งเราทุกคนต้องจบลงแบบนี้

และอีกหลาย ๆ วัน เราก็จะต้องเผชิญกับความพลัดพรากจากคนที่รัก และคุ้นเคย

อะไรที่เจ็บปวดน้อยกว่ากัน … เป็นร่างที่อยู่ในโลง หรือคนที่อยู่ข้างนอก ? หรือ ????

ฉันรับรู้ลมหายใจของตัวเอง และเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ

วันหนึ่ง เราจะเป็นเพียงภาพและเสียงในความทรงจำของกันและกัน … เราจะทรงจำอะไรในกันและกัน ? ความทรงจำนั้นจะให้ความหมายอะไรกับคนที่ยังอยู่บ้าง ? 

นึกถึงอดีตในอนาคต ฉันสูดลมหายใจแห่งปัจจุบันขณะเข้าเต็มปอด … สุขอยู่ตรงนี้แล้ว

เวลาที่ฉันยังสัมผัสไออุ่นแห่งลมหายใจของฉันและเธอ ช่างมีค่าเหลือเกิน 

ฉันชอบที่เราพูดคุยโต้ตอบกันได้ แม้จะมีเห็นด้วย หรือเห็นต่าง

ฉันชอบที่ดวงตาเธอสื่อประกายบางอย่าง ที่ทำให้ฉันรู้สึกมีชีวิต มีค่า และความหมาย … มีเพื่อน

ฉันชอบที่้เราจูงมือ เดินไปด้วยกัน รับรู้ความห่วงใยใส่ใจที่มอบให้

และแม้วันหน้า สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ทำ จะเหลือเพียงความทรงจำ

ฉันว่า มันจะเป็นความทรงจำที่ทำให้เราต่างอุ่นในหัวใจ

“กริ๊งๆๆๆๆๆ” เสียงดังขึ้นกรีดหัวใจของฉันอีกรอบ บานเหล็กของเตาเผาค่อย ๆ เลื่อนลงมา จะไม่มีร่างที่เคยเห็นอีกแล้ว … เหลือเพียงความทรงจำ