ของตาย – ของเป็น

oui 1

ภาพวาดโดย มนต์สินี สุขรุ่ง

ไม่รู้ว่าคำนี้มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรและใครต้นคิด แต่ความหมายมัน “ใช่” เลย

เวลาพูดถึง “ของตาย” ภาพในใจเราเห็นอะไร หรือรู้สึกอย่างไร

สำหรับเรา เห็นภาพของที่นิ่งสนิท เงียบ ไม่บ่น ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่หือหาอะไรทั้งสิ้น จะทำอะไรก็ไม่รู้สึก (หรือเปล่า) ของตายเป็นสิ่งที่เรารู้สึก (ลึกๆ) ว่า มีอยู่ตรงนั้น เพื่อเรา สำหรับเรา และจะไม่ไปไหน ไม่ว่าเราจะทำอะไร อย่างไรกับมัน

.

สิ่งใดบ้าง ใครบ้างที่มักถูกปฏิบัติเช่น “ของตาย” แล้วเวลาที่เราปฏิบัติกับสิ่งใดหรือใครเช่น “ของตาย” มันเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา ในจิตของ “ของตาย” และผลแห่งปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร “ของตาย” มีวันหมดอายุหรือไม่ เราเป็น “ของตาย” ของใครบ้างหรือไม่

.

อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง” ที่ไปดูมา และปัญหาธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้น – ฝุ่นพิษ ผักผลไม้ไม่อร่อยเท่าวันวาน น้ำกร่อย (น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำลึกขึ้น) ฯลฯ มันเกี่ยวกันอย่างไร

.

ลืมตาดูโลก ก็เห็นและสัมผัส น้ำ ลม อากาศ ดิน พลังงานแสงแดด ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ได้กิน ใช้ เหล่านี้เป็นของขวัญของชีวิตจนเหมือนว่าธรรมชาติดำรงอยู่เพื่อรับใช้มนุษย์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น เราทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ เผาขยะ เผาป่า ตัดไม้ ใส่เคมีลงดิน กอบโกย รุมทึ้งธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของเรา

.

ธรรมชาติมีพลังยิ่งใหญ่ ทำให้สิ่งที่เรากระทำกับเขานั้น ยังไม่มีผลสะท้อนกลับในทันที เราจึงทำร้าย ทำลายธรรมชาติ ต่อไป จนจุดหนึ่ง เราก็ได้รู้ว่า แท้จริงนั้น “ของตายนั้นไม่ตาย แต่ที่จะตายคือมนุษย์”

.

ธรรมชาติไม่ได้แก้แค้น เพียงสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่เราทำ กลับมาให้เราเห็น กิน สูดดม สัมผัส

ดินที่ถูกทำลายอย่างหนักด้วยเคมี ก็ทำให้อาหารที่เรากินรสชาติไม่อร่อย ปนเปื้อนสารพิษ เป็นโรคนานา

น้ำที่ถูกย่ำยีเป็นที่ทิ้งปฏิกูล ก็ทำให้น้ำ อาหาร ที่เราดื่ม ใช้ ไร้คุณภาพ จะเที่ยวล่องเรือก็ต้องปิดจมูกไม่อาจสูดหายใจลมโชยดีๆ ได้

ฝุ่นพิษก็เป็นฝีมือมนุษย์นี่แหละที่ช่วยกันสั่งสมมาหลายปี ด้วยเหตุต่างๆ มากมาย

ไม่อยากคิดว่า หากพระอาทิตย์ดับ จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต …. (เป็นไปได้ยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นในระบบจักรวาลอื่นมาแล้ว)

.

ผู้คนในอดีต เห็นธรรมชาติเป็น “ของเป็น” มีจิตวิญญาณ ความรู้สึก ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ได้ เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมชาติ มีพิธีกรรมที่เราให้ความเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ — ก็ทำให้ธรรมชาติที่สวยงามและดีงามคงอยู่มาถึงมือพวกเราในยุควัตถุนิยม ที่มองธรรมชาติก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งของ (สมัยประถม แบบเรียนนิยาม “ต้นไม้” “น้ำ” “ดิน” ว่า “เป็นสิ่งไม่มีชีวิต” หนึ่งในเหตุผลคือมันเดินไม่ได้)

.

ไม่เพียงธรรมชาติ แต่ความสัมพันธ์เชิงสังคมก็หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจของเราเช่นกัน และในความสัมพันธ์นี้ด้วย ที่เราหลายคนก็คงมี หรือ เป็น “ของตาย” กันบ้าง

.

“ของตาย” บางคนอาจเป็นคนที่สำคัญและจำเป็นกับชีวิตจิตใจของเรามาก อย่าง พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง สามี ภรรยา เพื่อนบางคน คนรัก ฯลฯ แต่บางคน “ของตาย” อาจไม่ได้มีความหมายหรือสำคัญกับเราเท่าพ่อแม่ ญาติ แต่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกเป็นที่รัก ไม่ว่าเราจะร้ายกาจกับเขาอย่างไร เขาก็จะภักดีต่อเราไม่เปลี่ยนแปลง ประมาณนั้น

.

เวลาเราเห็นใครเป็นของตาย ใจของเราเป็นอย่างไร ท่าที การปฏิบัติตัวของเรากับคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองเป็นอย่างไร และในความสัมพันธ์เป็นอย่างไร

แล้วเวลาเรารู้สึกว่าเป็นของตายของใคร เรารู้สึกเช่นไรกับตัวเอง และรู้สึกเช่นไรกับคนๆ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างไร ผลของความสัมพันธ์แบบของตายให้ผลอย่างไรบ้าง

.

คิดเร็วๆ ถึงผลบางอย่างของการทำกับสิ่งใดแบบ “ของตาย” – ลูกๆ ที่เห็นพ่อแม่เป็นของตาย ก็อาจเสียใจที่ได้ดูแลกันในตอนที่พ่อแม่อยู่ไอซียูหรือนอนในโลง (ของตายจริงๆ) หรือหากเป็นสามี ภรรยา ก็อาจจะเสียใจว่า ไม่ได้ใส่ใจดูแลกันมากพอ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปมีคนที่เห็นเขาเป็น “ของเป็น”

.

เพราะเราเป็น “คนเป็น” เราจึงต้องเป็น “ของเป็น” ให้กันและกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความหมายและสำคัญกับชีวิตของเรา

การเห็นผู้คน ร่างกาย หรือธรรมชาติเป็น “ของตาย” ผลสะท้อนที่เราจะได้รับวันใดวันหนึ่งข้างหน้าก็คงไม่ต่างกัน

Leave a comment