ของตาย – ของเป็น

oui 1

ภาพวาดโดย มนต์สินี สุขรุ่ง

ไม่รู้ว่าคำนี้มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรและใครต้นคิด แต่ความหมายมัน “ใช่” เลย

เวลาพูดถึง “ของตาย” ภาพในใจเราเห็นอะไร หรือรู้สึกอย่างไร

สำหรับเรา เห็นภาพของที่นิ่งสนิท เงียบ ไม่บ่น ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่หือหาอะไรทั้งสิ้น จะทำอะไรก็ไม่รู้สึก (หรือเปล่า) ของตายเป็นสิ่งที่เรารู้สึก (ลึกๆ) ว่า มีอยู่ตรงนั้น เพื่อเรา สำหรับเรา และจะไม่ไปไหน ไม่ว่าเราจะทำอะไร อย่างไรกับมัน

.

สิ่งใดบ้าง ใครบ้างที่มักถูกปฏิบัติเช่น “ของตาย” แล้วเวลาที่เราปฏิบัติกับสิ่งใดหรือใครเช่น “ของตาย” มันเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา ในจิตของ “ของตาย” และผลแห่งปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร “ของตาย” มีวันหมดอายุหรือไม่ เราเป็น “ของตาย” ของใครบ้างหรือไม่

.

อาจเป็นเพราะภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง” ที่ไปดูมา และปัญหาธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้น – ฝุ่นพิษ ผักผลไม้ไม่อร่อยเท่าวันวาน น้ำกร่อย (น้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำลึกขึ้น) ฯลฯ มันเกี่ยวกันอย่างไร

.

ลืมตาดูโลก ก็เห็นและสัมผัส น้ำ ลม อากาศ ดิน พลังงานแสงแดด ป่าไม้ ภูเขา สัตว์ สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ได้กิน ใช้ เหล่านี้เป็นของขวัญของชีวิตจนเหมือนว่าธรรมชาติดำรงอยู่เพื่อรับใช้มนุษย์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น เราทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ เผาขยะ เผาป่า ตัดไม้ ใส่เคมีลงดิน กอบโกย รุมทึ้งธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของเรา

.

ธรรมชาติมีพลังยิ่งใหญ่ ทำให้สิ่งที่เรากระทำกับเขานั้น ยังไม่มีผลสะท้อนกลับในทันที เราจึงทำร้าย ทำลายธรรมชาติ ต่อไป จนจุดหนึ่ง เราก็ได้รู้ว่า แท้จริงนั้น “ของตายนั้นไม่ตาย แต่ที่จะตายคือมนุษย์”

.

ธรรมชาติไม่ได้แก้แค้น เพียงสะท้อนสิ่งต่างๆ ที่เราทำ กลับมาให้เราเห็น กิน สูดดม สัมผัส

ดินที่ถูกทำลายอย่างหนักด้วยเคมี ก็ทำให้อาหารที่เรากินรสชาติไม่อร่อย ปนเปื้อนสารพิษ เป็นโรคนานา

น้ำที่ถูกย่ำยีเป็นที่ทิ้งปฏิกูล ก็ทำให้น้ำ อาหาร ที่เราดื่ม ใช้ ไร้คุณภาพ จะเที่ยวล่องเรือก็ต้องปิดจมูกไม่อาจสูดหายใจลมโชยดีๆ ได้

ฝุ่นพิษก็เป็นฝีมือมนุษย์นี่แหละที่ช่วยกันสั่งสมมาหลายปี ด้วยเหตุต่างๆ มากมาย

ไม่อยากคิดว่า หากพระอาทิตย์ดับ จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต …. (เป็นไปได้ยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นในระบบจักรวาลอื่นมาแล้ว)

.

ผู้คนในอดีต เห็นธรรมชาติเป็น “ของเป็น” มีจิตวิญญาณ ความรู้สึก ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ได้ เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับธรรมชาติ มีพิธีกรรมที่เราให้ความเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ — ก็ทำให้ธรรมชาติที่สวยงามและดีงามคงอยู่มาถึงมือพวกเราในยุควัตถุนิยม ที่มองธรรมชาติก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งของ (สมัยประถม แบบเรียนนิยาม “ต้นไม้” “น้ำ” “ดิน” ว่า “เป็นสิ่งไม่มีชีวิต” หนึ่งในเหตุผลคือมันเดินไม่ได้)

.

ไม่เพียงธรรมชาติ แต่ความสัมพันธ์เชิงสังคมก็หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจของเราเช่นกัน และในความสัมพันธ์นี้ด้วย ที่เราหลายคนก็คงมี หรือ เป็น “ของตาย” กันบ้าง

.

“ของตาย” บางคนอาจเป็นคนที่สำคัญและจำเป็นกับชีวิตจิตใจของเรามาก อย่าง พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง สามี ภรรยา เพื่อนบางคน คนรัก ฯลฯ แต่บางคน “ของตาย” อาจไม่ได้มีความหมายหรือสำคัญกับเราเท่าพ่อแม่ ญาติ แต่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกเป็นที่รัก ไม่ว่าเราจะร้ายกาจกับเขาอย่างไร เขาก็จะภักดีต่อเราไม่เปลี่ยนแปลง ประมาณนั้น

.

เวลาเราเห็นใครเป็นของตาย ใจของเราเป็นอย่างไร ท่าที การปฏิบัติตัวของเรากับคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองเป็นอย่างไร และในความสัมพันธ์เป็นอย่างไร

แล้วเวลาเรารู้สึกว่าเป็นของตายของใคร เรารู้สึกเช่นไรกับตัวเอง และรู้สึกเช่นไรกับคนๆ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างไร ผลของความสัมพันธ์แบบของตายให้ผลอย่างไรบ้าง

.

คิดเร็วๆ ถึงผลบางอย่างของการทำกับสิ่งใดแบบ “ของตาย” – ลูกๆ ที่เห็นพ่อแม่เป็นของตาย ก็อาจเสียใจที่ได้ดูแลกันในตอนที่พ่อแม่อยู่ไอซียูหรือนอนในโลง (ของตายจริงๆ) หรือหากเป็นสามี ภรรยา ก็อาจจะเสียใจว่า ไม่ได้ใส่ใจดูแลกันมากพอ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปมีคนที่เห็นเขาเป็น “ของเป็น”

.

เพราะเราเป็น “คนเป็น” เราจึงต้องเป็น “ของเป็น” ให้กันและกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความหมายและสำคัญกับชีวิตของเรา

การเห็นผู้คน ร่างกาย หรือธรรมชาติเป็น “ของตาย” ผลสะท้อนที่เราจะได้รับวันใดวันหนึ่งข้างหน้าก็คงไม่ต่างกัน

มันจบแล้ว

“มันจบแล้ว” – The End – Fin

Precious Time

by Aui’s Soul Art

เวลาไปดูหนัง พอประโยคนี้ขึ้น เรารู้ตัวทันทีว่า ถึงเวลาต้องลุกออกจากโรงหนังแล้ว และอย่าลืมเช็คข้าวของ แก้วน้ำ ป๊อปคอร์นด้วย แต่บางที เราก็อาจจะอยากจะนั่งซึมซับความซึ้งใจของหนังที่เพิ่งจบลง แต่เจ้าหน้าที่จะไม่ปล่อยให้เราทำอย่างนั้นค่ะ เขา/เธอจะเปิดไฟสว่างโล่ทั้งโรง เพื่อไล่ให้เราออกไปโดยเร็ว เพราะหนังรอบต่อไปรอผู้ชมชุดใหม่อยู่ และหากเราอยากดูหนังอีกเรื่อง ก็ต้องไปซื้อตั๋วแล้วเข้าไปดูในอีกโรงหนึ่ง

“จบ” ในการดูหนังเป็นอย่างนี้ แม้ในคอนเสริ์ต กิจกรรมต่างๆ การเรียน ฯลฯ มันมีพิธีกรรมหรือสิ่งที่ทำให้รู้ว่า ได้เวลาที่เราต้องจบ ไม่ว่าจะชอบหนังเรื่องนั้นแค่ไหน

อันที่จริง ทุกๆ อย่างที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง มันมีเวลาสิ้นสุด ทั้งสิ้น ขึ้นกับว่า เร็วหรือช้า

ไม่นานมานี้ เพื่อนคนหนึ่งเล่าระบายปัญหาความสัมพันธ์ที่มีกับคนรักมากว่า 10 ปี ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือฟัง หลังจากที่เพื่อนเล่าแล้ว ผู้ใหญ่ท่านนี้พูดขึ้นว่า “มันจบแล้วละ”

.

ไม่รู้ว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อได้ยินคำพูดนี้ แต่สำหรับฉัน “คำ 3 คำ นี้ ทรงพลังมาก”

มันช่วยจรด “จุด full stop” ในใจให้กับเรื่องราวที่ผ่านมา ราวกับว่า ประโยคนั้นใจความและความหมายครบถ้วนโดยสมบูรณ์แล้ว ได้เวลาเขียนประโยคต่อไป

.

ฉันไม่ทันได้ถามเพื่อนว่า “เวลาที่พูดได้ว่า “มันจบแล้ว” รู้สึกอย่างไร มีผลอย่างไรกับชีวิต”

ฉันเดาๆ เอาว่า บางทีการได้พูดอย่างนี้ออกมาดังๆ จากใจจริงๆ มันอาจจะช่วยให้เราจบกับเรื่องราวที่ผ่านมาได้ แล้วพร้อมจะเริ่มความหมายกับประโยคใหม่ๆ มั้ง?!

.

การ “จบ” เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตเหมือนกันนะ และเป็นศิลปะ — จะจบให้เป็นอย่างที่เรียกว่า จบสวยได้อย่างไร (น้องๆ ที่คุ้นเคยกับฉันจะรู้ว่า ไม่ว่ากระบวนการอบรมจะเป็นอย่างไร ฉันจะพยายามจบการอบรมให้ดี อย่างน้อยก็เป็น ท่ามาตรฐาน ให้ได้) การจบให้ดี สร้างพลังให้เราไปต่อ เหมือนการจบประโยคได้ ก็ทำให้เราเขียนประโยคใหม่ต่อไปได้อย่างดี

.

หลายครั้ง ปัญหาของเรามาจากการไม่ยอมจบ จบไม่ลง จบไม่ได้ ฉันไม่ลืมความขมขื่นในการรับแปลงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทรัฐศาสตร์คนหนึ่งเมื่อนานๆๆๆ มาแล้ว ฉันต้องแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ในหนึ่งย่อหน้า ฉันหาประธานประโยค (subject) แล้วตามหากริยา (verb) …. สายตาอ่านไปเรื่อยๆ จนจะจบหน้าแล้ว ยังไม่เจอคำกริยาของประธานตัวนั้นเลย ทำไมเหรอ? ก็เพราะคนเขียนใช้ วลีและประโยคขยายไปเรื่อยๆ …. ที่ …. ซึ่ง  ….. อัน ….. โดย ….. อัน …. ซึ่ง …… ที่ ….. ต่อเนื่องไปเรื่อย เหนื่อยใจ แน่นอนค่ะ ท้ายที่สุด ฉันส่งงานคืนไปแล้วบอกว่า ไม่เข้าใจสิ่งที่เขียน จึงแปลไม่ได้

.

เมื่อเรื่องราว หรือใจความจบแล้ว เราควรจบ แต่เมื่อใส่วลีหรือประโยคที่ขยายความไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ อ่านความไม่ได้ ไม่เข้าใจ เบลอ งง แล้วในที่สุด สิ่งที่เขียนก็จะไม่น่าอ่าน

.

ในการทำงาน อย่างการเขียน เรื่องการจบได้ จบเป็น ก็สำคัญ เราจะเสียดาย ขยาย-เขียนไปต่อเรื่อยๆ จะทำให้เรื่องเสียรส  ในการทำงานอะไรก็ตาม หากยื้อ พยายามจะปรับแก้งาน เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด ก็คงไม่ได้ เพราะเวลาเป็นจุดให้จบ (full stop) ภาคบังคับในตัวเอง — ศิลปะในการจบจึงจำเป็นไม่ว่าเรื่องใด การทำงาน ความสัมพันธ์ ชีวิตและความตาย

.

นอกเสียจาก deadline ของงาน และของชีวิต มาบังคับแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า งาน หรือเรื่องราวต่างๆ มันใกล้จบ ควรจบได้แล้ว? และหากรู้ชัดว่า “มันจบแล้ว” เราจะมีท่าทีต่อการจบสิ่งนั้นอย่างไร จะจบแบบไหน จะจบอย่างไร จะให้การจบนั้นมีคุณค่าความหมายอย่างไรกับบทต่อไปของชีวิต (และชีวิตหลังความตาย)

.

ฉันชอบคำพูดในบทสนทนาเล็กๆ ในหนัง A Beautiful Day in the Neighbourhood

เฟรด โรจอร์ส ถาม ลอยด์ โวเกิล ว่า “คุณแต่งงานมากี่ปีแล้ว”

“8 ปี แล้ว” ลอยด์ โวเกิล ตอบ

“What an accomplishment!” เฟรดชื่นชม ฉันสะดุดใจตรงนี้

.

ฉันบอกกับเพื่อนว่า หลายครั้งเรามักสงวนคำชื่นชมไว้ให้เรื่องที่คิดว่ายากมากๆ เกินมนุษย์ทั่วๆ เช่น คนที่รักและแต่งงานกันมาแบบ 40-50 ปี , คนวัย 30 ปีที่ไต่เต้าจากความยากจนจนมีเงิน 100 ล้าน (ด้วยความสามารถ), คนดีที่เสียสละได้ทุกสิ่งอย่าง …. การชื่นชมเรื่องราวพิเศษขั้นสุดนั้นก็ดี แต่เราก็ไม่ควรละเลยที่จะชื่นชมความดีเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ Ordinary Magic อย่าง คนทิ้งขยะลงถัง หยุดให้ทางคนข้ามถนน แฟนที่ขับรถไปส่งเราที่ทำงานทุกวันหรือเกือบทุกวัน แฟนที่เตรียมอาหารอร่อยๆ ให้กิน รอยยิ้มที่เรามีให้กันทุกครั้งที่เจอ ฯลฯ

.

บางที ความสำเร็จในชีวิตคือการตระหนักรู้ รับรู้ เห็นและชื่นชมความสำเร็จที่มีอยู่ทั่วไปในชีวิตของเราเองและผู้อื่น ผู้ที่ป่วยหายใจไม่ได้ ย่อมเห็นว่า การหายใจได้อย่างที่เราหายใจอยู่นี้เป็นความสำเร็จของชีวิต

ผู้ที่เดินไม่ได้ ก็คงเห็นว่า การเดินได้ วิ่งได้ เป็นความสำเร็จ

ผู้ป่วยพาร์คินสันที่พูดไม่ออก ติดอ่าง ก็ชื่นชมความสามารถที่พูดได้ ดังนั้น ควรพูดเรื่องดีๆ กันดีไหม

คนที่รักกัน แม้เพียง 1 เดือน แห่งความรัก ก็ดีไม่ใช่เหรอ

คนรักและดูแลกันได้ 10 ปี (แม้หลังจากนั้นก็เริ่มไม่ดี) แต่ 10 ปีที่ดี ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมใช่ไหม?

.

ฉันเชื่อว่า การชื่นชมเรื่องเล็กๆ น้อย ในชีวิตประจำวันนี่แหละที่เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความมสุขและความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบตัว
.

แม้ว่า ในวันนี้ เรื่องราวต่างๆ “มันจบแล้ว” แต่หากเราเห็นความสำเร็จ ความดี ความงาม คุณค่าความหมาย ที่อยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น  … มันก็เป็นการจบที่สวยงาม ทำให้เราพร้อมที่จะเขียนประโยคหรือเรื่องราวใหม่ๆ ก่อนที่จะจบเรื่องราวในชีวิตโดยสมบูรณ์ในวันหนึ่งข้างหน้า

.

ขอบคุณเพื่อนที่เล่าเรื่องนี้ และอนุญาตให้อ้างอิงความนี้มาเขียน

 

Reflections on Memory

“เธอเป็นใคร” ชายคนหนึ่งถามหญิงตรงหน้า

“ฉันเป็นเมียคุณไง” เธอตอบสามีที่มีภาวะความจำเสื่อม

“เหรอ .. อึม ก็มีส่วนคล้ายนะ แต่เมียฉันสวยกว่านี้”

ฉันหัวเราะกับเรื่องเล่าจากข้างบ้านที่เพื่อนแชร์ให้ฟัง แล้วก็รีบต่อทันทีว่า “ถ้าเป็นฉัน จะถามกลับไปว่า เธอคิดว่าฉันเป็นใครล่ะ” (เพราะในใจ ฉันเป็นอะไรก็ได้สำหรับเธอ)” เสียงตอบสดใสระคนเสียงหัวเราะ แต่ในใจ ฉันรู้ว่า กำลังปกปิดความรู้สึกบางอย่าง “หากเพื่อนที่นั่งข้างฉันในขณะนี้ ถามคำถามเดียวกันนั้นว่า “ฉันเป็นใคร” ฉันจะตอบเธอว่าอะไร ฉันจะขำออกหรือไม่”

ฉันก็ยังอยาก “ขำ” อยู่นะ (เพราะอยากให้เธอหัวเราะและให้เธอรู้สึกว่า การจำกันไม่ได้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร) และฉันอาจจะตอบเธอว่า “เออเนอะ แล้วฉันเป็นใครหว่า ยังไม่แน่ใจเลย ก็อยากรู้เหมือนกัน ช่วยบอกฉันหน่อยได้ไหมว่าฉันเป็นใคร” ถ้าฉันตอบแบบนี้ เพื่อนจะต่อความอย่างไรไหมน้อ และถ้าฉันตอบว่า “ฉันชื่อ… ฉันเป็นคนที่รักเธอมาก รักที่จะดูแล และอยู่เคียงข้างเธอจนสุดทาง อยากทำให้เธอมีความสุข มีคุณภาพชีวิตและคุณภาพการตายที่ดีที่สุดตามสติกำลัง” คำตอบนี้จะพอใช้ได้ไหม

.

หากคนที่เรารักจำเราไม่ได้ มันคงเจ็บปวดเหมือนกันนะ ที่เราจะต้องกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับคนที่เรารัก เจ็บปวดที่เขาไม่เหลือความทรงจำแม้กระทั่งความรักให้เรา … แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ฉันยังมีความรักและความทรงจำเกี่ยวกับเธอ และสิ่งนี้จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของทั้งตัวฉันและเธอได้

.

วันนี้ ฉันพิจารณาบทเรียนที่ชื่อว่า “ความทรงจำ” ในที่นี้ ฉันไม่ได้พูดถึงความทรงจำในแง่จำชื่อคน ภาษา ความรู้ วิชาการศาสตร์ต่างๆ แต่ฉันหมายถึงความทรงจำในลักษณะเจาะจง ที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่เรามีเกี่ยวกับตัวเองในความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ความรู้สึกของฉันที่มีต่อ “ความทรงจำ” เป็นส่วนผสมของความชอบและความไม่ชอบ ความรู้สึกอยากโอบกอดและผลักไส พูดง่ายๆ คือ love-hate relationship … เรื่องนี้ยังไม่แล้วใจในความคิด

…….. ตัดฉาก ไปที่หน้าบ้านเพื่อน —- บ้าน 3 ชั้นหลังเล็ก ท่ามกลางตึกสูงกลางเมือง ให้ความรู้สึกถึงบ้านหนูน้อยในภาพยนตร์เรื่อง Stuart Little ……

เพื่อนเอาสิ่งของ หนังสือ ฯลฯ ที่ฉันเคยให้ ไปมอบต่อให้คนอื่น และบางส่วนก็คืนกลับให้ฉัน ถ้าเป็นเมื่อก่อน ฉันคงรู้สึกน้อยใจอย่างมาก แต่วันนี้ ฉันแก่แล้ว ฮ่าๆๆ ….. แก่ความเข้าใจชีวิตมั้ง (แอบทดความคิดนิดหนึ่ง : เวลาคนเราน้อยใจ = ใจน้อย มันไม่ค่อยดีเท่าไร ฉันเป็นคนมักมาก อยากมีอะไรมากๆ ดังนั้น พอใจน้อย ก็ต้องทำให้กว้างและมากขึ้น ฮ่าๆๆ หากเราสามารถถ่าง-อ้าใจให้กว้างขึ้น ก็จะโอบกอดเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น และเชื่อสิ! ฉันทำได้ ใครๆ ก็ทำได้)

ฉัน (เดาว่าตัวเอง) เข้าใจเจตนาของเพื่อน ที่ต้องการเคลียร์ข้าวของเพื่อให้ชีวิตเบาและเรียบง่ายชึ้น สองเพื่อให้ของที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วไปเป็นประโยชน์ต่อกับผู้อื่น แม้จะเข้าใจ แต่ก็เกิดคำถาม (ตัวเอง) ว่า “เราให้สิ่งที่เธอไม่ต้องการหรือไม่จำเป็นหรือเปล่านะ? สิ่งที่เราให้เธอมันสร้างส่วนเกินในชีวิตและเป็นภาระกับเธอหรือเปล่า? และคำถามสำคัญ คือ เราให้ของเหล่านั้นเพื่ออะไร? และเพราะอะไร?”

.

เอาเข้าจริงๆ ฉันก็คิดว่า สิ่งที่จำเป็นในชีวิตจริงๆ นั้นมีไม่มาก และส่วนมาก เพื่อนก็จัดการหาได้ด้วยเธอเอง ถ้าจะหาสิ่งที่จะมอบให้กัน ก็แทบจะไม่มี … “มีอะไรที่ฉันจะมอบให้เธอได้บ้างนะ” ฉันพยายามคิด “ถ้าเป็นจดหมาย โปสการ์ด ของที่ระลึก ใช้ได้ไหมนะ” ฉันถามตัวเอง “มันจะเป็นขยะในวันหนึ่ง” ฉันตอบตัวเอง “เป็นภาระในการเก็บรักษาอีกต่างหาก” ฉันพยายามค้นหาคำตอบแล้วก็ตามด้วยคำถาม จนกระทั่งมาหยุดที่คำถามว่า “แล้วทำไมฉันจึงอยากจะให้ของต่างๆ กับเธอ”

เสียงความเงียบภายในสะท้อนคำตอบบางอย่าง ฉันยังไม่แน่ใจว่า คำตอบที่มีนั้นใช่ แต่ถ้าไม่พยายามสร้างภาพตัวเองนัก บางส่วนของสิ่งที่ฉันคิดว่า อาจเป็นคำตอบ เช่นว่า ฉันต้องการมีตัวตนในโลกของเธอ ต้องการดำรงอยู่ในความทรงจำของเธอ เพราะหากไม่มีอะไรเหล่านั้นเลย เพื่อนจะนึกถึงฉันไหม ฉันเป็นส่วนในความทรงจำของเธอหรือไม่ (ทำให้นึกถึงเวลาคนเลิกกัน มักคืนของที่เคยมอบให้แก่กัน หรือเผา/โยนทิ้งไปเลย … เพราะอะไร? ไม่อยากมีสิ่งเตือนให้นึกถึงกัน? เป็นการบอกว่าเธอไม่มีตัวตนในชีวืตฉันอีกต่อไป? เป็นการพยายามลบความทรงจำเธอออกไปจากใจด้วยการทำลายเครื่องเตือนความทรงจำ?)

ฉันถามตัวเองต่อว่า แล้วฉันต้องการมีความหมายในความทรงจำของเธอเพื่ออะไรเหรอ? และถ้าเธอไม่มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับฉันเลย ฉันจะรู้สึกอย่างไร … บางอย่างในตัวเหนียมเกินว่าจะเผชิญความเป็นจริงบางอย่าง

………………………. ตัดฉาก ที่ศาลาวัดยามเช้า……………………………..

ในศาลาวัดเช้าวันนี้ ฉันนั่งฟังผู้คนเข้าไปขอความรู้แนวทางปฏิบัติจากอาจารย์ที่สอนธรรมะ สิ่งที่สะดุดใจในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ การเร้าจิตให้ติดภพ (สุขสงบ) กับการที่จิตคิดแล้วเกิดกุศลจิต (สุข สงบ)

อาจารย์ท่านนี้แนะนำนักภาวนาคนหนึ่งว่า เวลาที่เราคิดถึงการปฏิบัติ เรามักคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และหลายครั้ง หลายคนจะสร้างภพขึ้นมา เป็นภพที่จิตปรุงให้นิ่ง สุข สงบ เป็นการเร้าจิต โน้มจิตให้ไปในทางนั้น ซึ่งเป็นการปรุงแต่ง หากเรารู้ทัน การปรุงแต่ง ก็จะได้ไม่ติดภพที่สร้างขึ้น

ฉันถามอาจารย์ว่า เคยได้ยินพระอาจารย์พูดถึงการยิ้มก่อนที่จะภาวนา (ในรูปแบบ) อย่างนั้นก็เป็นการสร้างภพหรือไม่

อาจารย์ท่านนั้นตอบว่า อันนั้น พระอาจารย์แนะนำสำหรับคนที่ภาวนาเครียด จิตเครียด ให้ช่วยจิตผ่อนคลายก่อนช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่เวลาที่บอกว่า ติดภพนั้น นักภาวนาจะสร้างมันขึ้นและติดอยู่ในนั้นนานจนอาจไม่รู้ว่าติดภพอยู่ เป็นการเร้าจิตให้เป็นอย่างทิ่คิดว่าจะเป็น เร้าจิตให้สุข สงบ นิ่ง —สิ่งนี้ต่างจากการคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดกุศลจิต อย่างเช่น เวลาที่เราคิดถึงอนุสติ เช่น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือจาคะสติ (บุญทานการให้ที่เราได้ทำมา) เมื่อคิดถึงสิ่งนั้น ใจจะเป็นกุศล รู้สึกเป็นสุข สิ่งนี้ไม่ต้องเร้า มันเป็นผลของการทำอนุสติ อันเป็นปัจจัยเพื่อให้ใจเป็นกุศล หากทำต่อเนื่องก็เกิดเป็นสมาธิได้ — โอ้! ฉันปิ๊งเลย และคิดต่อถึง “ความทรงจำในชีวิต”

.

……. ยามค่ำ ในรถ บนทางด่วน …………..

ภาพคนรักเก่าโผล่มาทักทาย … “เออเนอะ ไม่ได้เชิญ ก็มา” ฉันรำพึงกับตัวเอง

คนเรามีความทรงจำมากมาย ทั้งที่เราพอใจและไม่พอใจ และน่าสนใจว่า เราเลือกสิ่งที่จะจำหรือไม่จำ ไม่ค่อยได้ ใจมันเลือกจะจำหรือไม่จำของใจเอง น่าปวดหัวชะมัด! ที่ผ่านมา เวลาที่ความทรงจำที่ไม่พอใจมาทักทาย สิ่งที่มักทำก็มีสองทาง คือ จมดิ่งลงไปในโลกความคิด คร่ำครวญ โวยวาย วนเวียยนซ้ำซาก หรือไม่ก็ ปัดทิ้ง เบี่ยงเบนไปคิดเรื่องอื่น บอกว่า มันไม่มีความหมายอะไร ไม่อยากนึกถึง

แต่วันนี้ ฉันยิ้มทักทายความทรงจำนั้น

“เราอาจใช้ความทรงจำในการสร้างกุศลจิตได้นะ แทนที่จะปล่อยใจให้คิดถึงเรื่องแย่ๆ ในอดีตแล้วจิตเป็นอกุศล ก็น่าจะเปลี่ยนมาคิดเรื่องดีๆ ให้ใจสบาย น่าจะดีกว่า และฉันว่า ทุกเรื่อง มีแง่มุมดีๆ นะ แม้ในความสัมพันธ์ที่แย่ๆ มันก็ต้องเคยดีละว้า! หรือไม่จริง คนที่แยกจากกัน วันนี้ทะเลาะกัน มันก็ต้องมีวันที่เคยยิ้ม เคยหัวเราะ สนุกสนาน กอดคอกันบ้าง ก็น่าจะเอาความทรงจำดีๆ ที่เคยมีมากทำให้เกิดประโยชน์” ฉันสอนตัวเอง แล้วก็ยิ้มให้กับห้วงเวลาที่มีความสุขกับคนรักในอดีต เวลาที่เราสนุกด้วยกัน คุยกันถูกคอ กินขนม ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกัน

แม้วันนี้ไม่มีอย่างนั้นแล้ว ก็ยิ่งต้องคิดเรื่องดีๆ เข้าไว้หรือเปล่า มันไม่ใช่การมโน หลอกตัวเอง บิดเบือนความเป็นจริง แต่เป็นการใช้ประโยชน์ความเป็นจริง (ที่ทรงจำไว้) ในส่วนที่ดีต่างหาก ไม่ใช่ไม่รู้ความเป็นจริง แต่รับรู้ความเป็นจริงรอบด้าน ทั้งที่ไม่มีแล้วในวันนี้ กับสุขที่เคยมี และก็ไม่ได้มองในส่วนที่ดี แบบมีความหวังว่ามันจะกลับมา

.

ฉันไม่ได้ใช้แนวทางนี้กับความทรงจำจากอดีตคนรักเท่านั้น แต่ใช้กับเรื่องราวอื่นๆ ด้วย ทั้งความทรงจำกับเพื่อน ครอบครัว พ่อแม่ วัยเด็ก ตัวเอง … เมื่อใด ความทรงจำแย่ๆ ผุดขึ้นมา ก็รับรู้ และถ้ากำลังปัญญาพอ ก็เห็นบทเรียนในความทรงจำแย่ๆ นั้น หรือหากกำลังไม่พอ ก็ลองค้นหาเรื่องดีๆ ในความทรงจำนั้นๆ มันต้องมีบ้างละน่า ฉันว่า ความทรงจำเป็นเรื่องที่เราให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นและความรู้สึกของเราเอง

.

หากสมองยังไม่เสื่อม ฉันก็คงจำสิ่งต่างๆ ที่ใจ/สมองเลือกจำ โดยที่ฉันควบคุมแทบไม่ได้ เพราะบางเรื่อง มันก็จำเอง ทั้งที่ไม่ได้อยากจำ บางเรื่องก็จำได้ แล้วแต่ใจ แต่วันหนึ่ง ทุกอย่างในความทรงจำก็จะดับลง แม้จะมีของที่ระลึกต่างๆ ข้าวของก็สูญสลาย แม้แต่สมองและร่างกายของเราก็เช่นกัน

.

แต่จะว่าไป ในชีวืตที่แต่ละวันวุ่นวายเหลือเกิน ฉันมีเวลาระลึกถึงความทรงจำต่างๆ น้อยมาก เอ..หรือพื้นที่ความจำใกล้เต็ม 555 เอาเป็นว่า ฉันเลือกที่จะดุแลความทุกทรงจำเวลาที่เข้ามาทักทาย รับรู้ และมองในแง่งามที่เป็นจริง  แต่ที่สำคัญกว่า และอาจเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในชีวิต คือ กาอยู่กับปัจจุบัน สัมผัสกับทุกสิ่ง ทุกคน ทุกอย่างในปัจจุบัน ซึ่งงดงามมากมาย ฉันอยากจะ relate กับผู้คนอย่างดื่มด่ำในปัจจุบัน มากกว่าจะจดจำไว้คิดถึง

An idle poem on global warming of the heart

 

Winter has arrived in my heart before the frosty breeze comes.
My heart felt frozen after one night it drifted in a dream to a familiar face with a loving smile.
Woken up, reality blows like a snowy storm that takes my heart to dumbness.

Summer scents and flowers suddenly withered. Barren branches. Soul-less leaves.
Love in blossom prematurely enters the freezing season.

A reminiscence of sorrow returns but it is not as painful as yesteryears.
The shattered shadow of the once full-filled heart makes me solidly cold.

Life is a cycle of seasons.
Embrace each season, I’ve learned. But it seems as though the global warming has taken my heart.

I have to cope with unpredictable change of season…too short, too soon and sometimes too dramatic.

ปัจจุบันของความรัก

ง่วง ๆ แต่เมื่อได้เจอเพื่อน เราก็ “ตื่น”

ไม่เพียงตื่นจากความง่วง แต่ตื่นรับความจริงด้วยความปรีดาว่า “ดีใจที่ได้พบกัน…อีกครั้ง”

ในวัย ๔๐ ดวงตะวันแห่งชีวิตเริ่มคล้อยสู่สนธยายาม

ฉันคำนึงถึงความตายอยู่บ่อย ๆ ไม่ได้ด้วยความกลัว

แต่ด้วยความสำนึกในบุญคุณ ที่ความตายหยิบยื่นโอกาสที่จะรู้สึกถึงคุณค่า ความหมายของชีวิต

ชีวิตผลิกผันได้ทุกเมื่อ ความคิดแปรเปลี่ยน แต่ความตายนั้นซื่อสัตย์ยิ่ง

การพบเธอในวันนี้เป็นเหมือนปัจจัยสุดท้ายที่เติมใจให้ซึ้งถึงความหมายบางอย่าง …. ความหมายของปัจจุบัน

ปัจจุบันขณะ คือ ชีวิตที่สดใหม่ และเต็มบริบูรณ์

ในขณะปัจจุบันสั้น ๆ นั้น เราสัมผัสความหมายของชีวิต ความหมายของมิตรภาพ ความหมายของความรัก

“ฉันดีใจที่มีเธออยู่ตรงนี้ ในเวลานี้ ไม่สำคัญว่า ขณะหน้าเราจะพบกัน อยู่ด้วยกันหรือไม่

เพราะที่ได้พบ ฉันก็อิ่มในหัวใจ”

ในเสี้ยวนาทีนั้น ใจทบทวนอะไรมากมาย … ฉันเคยเจอเธอมาก่อนในชาติไหน ฉันไม่อาจรู้ …

ฉันจะพบเธออีกไหมในชาติหน้า ก็ไม่รู้ได้ …

ที่รู้แน่ชัดอย่างเดียว คือ วันนี้ เวลานี้ เราพบกัน และเป็นเวลาที่วิเศษน่าเฉลิมฉลองยิ่ง

ใบหน้าของผู้คนจำนวนมากฉายผ่านเข้ามาในใจ

ผู้คนที่เกี่ยวข้องดองสัมพันธ์ด้วย ในหลายรูปแบบ ต่างกรรมและวาระ

ฉันดีใจที่เคยได้พบ รู้จักสัมพันธ์กัน ไม่สำคัญว่า ในช่วงสั้น ๆ หรือยาว

วันที่เคยมีกัน และวันนี้ที่ยังมีกันอยู่ ล้วนเป็นเวลาที่วิเศษยิ่ง … เธอทุกคนเป็นสิ่งที่วิเศษยิ่ง

“เราจะดูแลของขวัญของชีวิต จะดูแลของขวัญแห่งกาลเวลาที่ไม่อาจหวนกลับอย่างไร” ฉันถามตัวเอง

และคิดว่า คำตอบคงอยู่ในทุกขณะที่ชีวิตยังเหลืออยู่

เรื่องเล่าหอยขม

แต่ละวัน แต่ละเรื่องราวในชีวิตเปรียบได้เหมือนเศษขนมปัง ที่เป็นร่องรอย นำพาเราเดินทางกลับ “บ้าน” ในวันนี้ ฉันเริ่มสังเกตเห็นชีวิตเป็นเช่นนี้
เมื่อหลายวันก่อน เปรยกับแม่ว่า ชะพลูที่บ้านงาม ขยายอาณาเขตกว้างขวาง จำต้องนำมาทำอาหารกินบ้างแล้ว นอกจากเมนู ไข่ทอดใบชะพลูแล้ว เราก็นึกถึงแกงชะพลูหอยขมที่เขามักนิยมทำกัน
แม่ส่ายหน้า ปากเบะ “ไม่เอาล่ะ สงสาร”
“มันตายแล้วนี่แม่ แต่ก่อน ยายทำข้าวแกงขาย น่าจะต้องได้ทำเมนูนี้นะ”
“เคย แต่เลิกทำไปนานแล้ว” แม่ตอบ
คุณยายมีอาชีพทำข้าวแกงขาย แต่เช้ามืดทุกวัน ยายและลูกๆ ต้องช่วยกันเตรียมอาหาร ทำกับข้าวหลายหม้อ แน่นอน การทำแกงหอยใบชะพลูเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เคยทำ แต่ยายไม่เคยสังเกตชัดๆ นานๆ สักครั้งว่า เกิดอะไรขึ้นในหม้อแกงนี้ เพราะต้องทำอาหารอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันอีกหลายหม้อ จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง หลังจากที่เทหอยลงหม้อแกงที่กำลังต้ม สักพัก คุณยายเกิดหันไปดูหม้อ แล้วเห็นหอยขมไต่ขึ้นมาจากหม้อร้อนๆ คุณยายถึงขนาดหยุดทำแกงหม้อนั้น แล้วก็ไม่ทำเมนูนี้ขายหรือกินอีกเลย … ฉันจึงไม่เคยกินเมนูนี้ด้วยฝีมือยายเลยสักครั้ง และก็ไม่รู้ทำไม ฉันดูจะไม่ค่อยชอบกินเมนูนี้ตั้งแต่เด็ก
ฟังเรื่องนี้ของยายในวันนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องที่ฉันเองเคยสัญญากับหอยนางรมที่เก็บกินสดๆ จากหาดในรัฐซีแอทเทิลเมื่อราวสิบปีก่อน แม้หอยนางรมจะไม่เดินหนีไปไหม พร้อมให้เปิดฝากินเนื้อสดๆ แต่สำหรับฉัน มันบีบคั้นหัวใจ ที่รู้อยู่ว่า ความมีชีวิตและความตายจะเกิด-ดับในปากของเรา …. จากวันนั้น ฉันไม่กินหอยนางรม หนึ่งในอาหารจานโปรดอีกเลย
 น่าขำ ไม่นานหลังจากได้รู้เรื่องตำนานหอยขมกับคุณยาย ฉันไปเดินตลาดสด ผ่านร้านที่มีกะละมังหอยขมขาย แต่วันนั้น มีหอยตัวหนึ่งอยูนอกกะละมัง ผู้คนเดินผ่าน ฉันถามตัวเองว่า มันตายแล้วหรือยัง ออกมาอยู่นอกกะละมังได้อย่างไร หากมันยังไม่ตาย จะโดนคนเหยียบไหม และฉันควรเก็บมันลงกะละมัง หรืออะไรดี
ฉันเดินลังเลใจอยู่หน้าร้าน แต่ไม่อยากให้ใครสังเกตเห็น เพราะเกรงว่า จะมีคนเก็บหอยลงกะละมัง สักครู่ก็ตัดสินใจเดินจากไป ด้วยเหตุผลว่า แล้วแต่กรรมของมันแล้วกันและมันไม่ใช่ของๆ เรา แต่ฉันก็ส่งใจภาวนาให้มันปลอดภัยจากบาทาของผู้คนที่เดินไปมา
 ฉันเดินไปซื้อของในตลาด จนกระทั่งเดินผ่านร้านนี้อีกครั้ง หอยขมยังอยู่ ไกลจากกะละมังออกไปอีก คำถามกลับมาอีก “ฉันควรจะเก็บมันใส่กะละมัง หรือ จะเก็บมันไปปล่อย”
ในเสี้ยวขณะนั้น ความรู้สึกและภาพการเรียนในวิชาการใช้เหตุผล ตรรกะและปรัชญา ที่คณะอักษรศาสตร์ก็กลับมา จำได้ชัดว่า การเรียนวิชานี้ อาจารย์ให้โจทย์ชีวิตที่เป็น dilemmas เสมอๆ ให้เรานำเสนอเหตุผลในการเลือก ตัดสินใจ ในการกระทำต่างๆ
ชีวิตเราจะเจอกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเสมอๆ วิชาพื้นฐานปรัชญาชวนให้เราคลี่ตรรกะ เหตุผลที่เราใช้ในการพิจารณาเรื่องราวนั้นๆ รู้เหตุผลของตัวเองในการคิด การตัดสินใจ รู้ผลที่จะเกิดขึ้น และเห็นวิธีคิดอื่นๆ ด้วย แม้จะไม่เลือกทำตามวิธีคิดนั้นๆ
timeline_20171006_120233
สำหรับหอยขมตัวนี้ ฉันอาจมองได้ว่า มันเป็นสมบัติของแม่ค้าที่ซื้อมันมาเพื่อขาย และหากฉันจะช่วยรักษาสมบัติแม่ค้า ก็ควรเก็บหอยใส่กะละมังไป ในอีกความคิดหนึ่ง ชีวิตเป็นสมบัติของหอยขมหรือไม่ ฉันจะช่วยรักษาสมบัติชีวิตให้มันไหม ฉันจะเลือกรักษาสมบัติให้ใคร?
หากฉันช่วยรักษาชีวิตหอยขมตัวนี้ ศีลจะด่างพร้อยไหม ในข้อหา ลักทรัพย์ เพราะฉันรู้อยู่เต็มอกว่า หอยนี้มาจากไหน เป็นของใคร ในอีกแง่คิด ฉันบอกว่า แต่หอยมันออกมาจากกะละมังแล้วนี่ มันออกมาหาอิสรภาพและโอกาสในชีวิต มันไม่ได้เป็นสมบัติในกะละมังของแม่ค้าอีกต่อไป ดังนั้น ถือว่า ฉันไม่ได้ลักทรัพย์ และหากแม้ ศีลข้อ 2 จะด่างพร้อย ฉันก็ยินดี และพร้อมยอมรับผลที่จะตามมา
ฉันควรจะปล่อยมันไป ธุระไม่ใช่? มันก็แต่หอยขมตัวหนึ่ง ยังไงสักวันมันก็ตาย ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นตลาด ในกะละมัง ในคลอง ทำไมต้องยุ่งกับมัน? ปลง อุเบกขา? — ฉันรักชีวิต และเห็นความรักนี้ในตัวหอยขมที่พยายามแหกคุกออกมา เมื่อมีวาสนาได้เห็นกันแล้วและยังรอดอยู่ (แม้ฉันจะผ่านมันไปรอบแรก) ก็ต้องช่วยกันตามสติ ปัญญา
ดังนั้นแล้วก็ก้มลงเก็บหอย นำกลับบ้าน ใส่กะละมังน้ำ สวดมนต์ก่อนที่จะนำไปปล่อยในคลองหลังบ้าน ที่มีระบบนิเวศดีพอใช้
Like grandmother, like grand-daughter. อันที่จริง ฉันรู้สึกว่า ยายเป็นแม่ทางจิตวิญญาณของฉัน ผู้ให้และพิทักษ์หัวใจ จิตวิญญาณดีๆ ให้กับฉันมาตลอดตั้งแต่เกิด และแม้ยายจะตายไปนานแล้ว ท่านก็ยังทำหน้าที่นี้อยู่ ผ่านความทรงจำที่เรามีต่อกัน ผ่านเรื่องเล่าที่แม่และน้าๆ พูดถึงยาย
ยายใจดีกับสัตว์เสมอ ยายมักให้ฉันเอาข้าวที่กินเหลือไปวางไว้ในที่สมควร เพื่อให้หมา แมวจรจัดได้กิน ยายไม่เคยตีสัตว์ แม้ตัวเล็กตัวน้อย อย่างมด แมลงสาบ หรือแม้กระทั่งงู และหนอนพยาธิที่ออกมาจากก้นของฉัน ยายก็โยนไว้ใต้ต้นไม้ (กรี๊ด) เมื่อยายไปเห็นวัวที่ยืนรอหน้าลานประหาร มีน้ำตาไหล ยายก็หยุด เลิกกินเนื้อ เลิกทำอาหารจากเนื้อวัว ก็เป็นธรรมดาที่ฉันจะเอาตาม ทั้งๆ ที่เป็นคนโปรดปรานเนื้อวัวและอาหารทะเลเป็นที่สุดตั้งแต่เด็ก
ยายเป็นคนทำกับข้าว แต่ไม่ยอมทำลายชีวิตที่ยังเป็นๆ ไม่ว่าจะเป็นปู หอย ไก่ ปลา แต่ก็มีครั้งหนึ่งที่ยายจำต้องทำ
คุณยายเพื่อนบ้านเอาปลาดุกที่จับได้มาให้ยาย 2 ตัว ยายไม่อยากทำ และฉันก็ขอยายไม่ให้ทำ แต่ยายบอกว่า “ไม่ได้หรอก คุณยายข้างบ้านเอามาให้ เดี๋ยวเขาถาม และเราก็ต้องแกงให้เขาด้วย”
ตอนที่ยายลงมือ ฉันเห็นสีหน้ายายแล้ว รู้เลยว่า ยายไม่สบายใจมาก และฉันก็วิ่งออกจากครัวพร้อมน้ำตา ไม่อยากได้ยินเสียง “โปกๆ”
ในตอนที่ฉันไปเยี่ยมคุณยายที่ห้องไอซียู หลังจากที่ยายผ่าตัดเนื้องอกสมอง ศีรษะยายถูกโกน มีรอยแผลผ่าตัดเป็นทางยาวบริเวณกะโหลกส่วนหน้า ทำไมไม่รู้ ภาพปลาดุกก็ผุดพรายขึ้นมา … จากวันนั้น ฉันไม่กินปลาดุกอีกเลย (ซึ่งก็ไม่เคยชอบกินอยู่แล้ว) และก็มักปล่อยปลาดุก ปลาช่อนเสมอๆ (แต่ก็เพิ่งนึกได้ว่า น้ำยาขนมจีนที่โปรดปรานนั้น เขาใช้ปลาช่อนมาทำนะเออ … เง้อ …)

แม้ในที่สุด เราจะไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น หรือธรรมชาติ แต่ฉันก็จะเพียรตระหนักว่า เราต้องทำให้ชีวิตมีคุณค่า เพื่อจะบอกให้ได้ว่า เราสมควรจะมีชีวิตอยู่ (เพื่อ????) และทำให้การตายของชีวิตอื่นมีคุณค่า ผ่านการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตัวของเรา

ทั้งชีวิตและวินาทีสุดท้าย

“ไม่ต้องกลัววาระสุดท้ายหรอกค่ะ มันจะโอเค” ฉันบอกเพื่อนๆ และคุณแม่วัย 78 ปี ที่มาร่วมกิจกรรมสนทนาสบายๆ Living and Dying Dialogue วันเสาร์ที่ 19 พย. ที่ผ่านมา “คุณงามความดีที่เราทำมา อุปนิสัยใจคอที่เราเป็น จะช่วยเราเองในวาระสุดท้าย” ฉันขยายความ
.
ฉันก็งงกับสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเอาความมั่นใจมาจากไหนจึงพูดว่า “ไม่ต้องกลัว”
.
เมื่อกลับมาทบทวนสิ่งที่ตัวเองพูด ฉันพบว่า กลัวหรือกังวลไปก็เท่านั้นแหละ ยิ่งกลัวหรือกังวล เรายิ่งต้องตระหนักและเตรียมตัวเสียในวันนี้ — “เราใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไร ทำด้วยใจอย่างไร บ่มเพาะอุปนิสัยอะไรในตัว หากทำเต็มที่แล้ว ถึงเวลานั้น ทั้งหมดของชีวิตจะมาช่วยเราเอง ไม่ต้องห่วง ขอให้มั่นใจ วางใจและมั่นใจในชีวิต” ฉันแลกเปลี่ยนความเห็นต่อ
.
ฉันคิดอีกว่า หากจิตสุดท้ายจะไม่ดีขึ้นมา ก็ไม่เป็นไร จะทำไงได้ มันก็คือสิ่งที่เราทำและเป็นมาทั้งนั้น เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ ดังนั้น จะกลัวทำไม (การกลัวตายมีหลายอย่าง หลายอารมณ์และหลากความคิดเบื้องหลัง เช่น กลัวเจ็บ กลัวจากคนรัก กลัวความไม่รู้ข้างหน้าว่าจะเกิดเป็นอะไร อย่างไร เป็นต้น — ซึ่งไว้คุยโอกาสหน้าละกัน)
.
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-27 พย.) ฉันไปเข้าอบรมโยคะภาวนาเพื่อการเตรียมตัวตายอย่างมีสติ กับครูดล ที่บ้านพุฒมณฑา โคราช กิจกรรมสุดท้าย ครูดลให้เขียนข้อความถึงคนที่เราอยากสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะตายไปแล้ว หรือยังอยู่ และท้ายสุดจริงๆ ก็คือ เขียนถึงตัวเอง
.
“จะบอกตัวเองว่าอะไร ในเวลาที่เราจะตายอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า”
ฉันนิ่งอึ้ง — เป็นการกลับมาสนทนากับตัวเองอย่างจริงจัง “เราจะจากคนๆ นี้ไปแล้ว เราจะบอกอะไรเขา”
.
ฉันเงี่ยใจฟังเสียงความรู้สึกที่อยากจะบอกลาตัวเอง แล้วก็ยิ้ม ลงมือเขียนข้อความลงกระดาษอย่างพรั่งพรู
.

“I am happy with you.

You’ve done well, been strong, courageous, kind and compassionate.

You’ve given yourself good things like dharma.

You’ve had good family and friends.

You’ve done jobs that are beneficial for society.

Well done!”
.
ฉันประหลาดใจที่บอกสิ่งเหล่านี้กับตัวเอง หลายครั้ง ในบางวัน ฉันรู้สึกทุกข์ มีปัญหานานา แต่เมื่อจะต้องจากไป เรามองภาพรวมของชีวิตแล้ว โอ้ … ฉันต้องขอบคุณตัวเองหลายเรื่อง
.
ประสบการณ์นี้สอนฉันด้วยว่า ในการดำรงชีวิต เราต้อง zoom in, zoom out บางครั้งเราอาจต้องใส่ใจ ลงลึกในสาระความหมายบางอย่างของปรากฏการณ์ ประสบการณ์ทั้งทุกข์และสุขในชีวิต แต่ในบางคราว เราก็ควรถอยออกมามองภาพรวม ภาพใหญ่ของชีวิตเรา (ที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ) ด้วย
.
ลองถามคำถามนี้กับตัวเองนะคะ “หากเราจะจากไปในวันนี้ เราจะพูดบอกอะไรกับตัวเอง”
.
15196075_10154806425803259_4965515981044665090_oชวนผู้สนใจไปสนทนากับตัวเองในหลากประเด็นความหมายของชีวิต ความเจ็บป่วย และความตาย/การตาย ในงาน สร้างสุขที่ปลายทาง วันที่ 1-2 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติต์ เวลา 9.00-17.00 น. โดยประมาณ ดูรายละเอียดได้ที่ FB สุขปลายทาง
.
มีกิจกรรม เวิร์คช้อป ลานเรียนรู้ ดนตรีบำบัด ครัวสร้างสุขและเมนูอาหารสำหรับผู้สูงวัยและผู้ป่วย ภาพถ่ายเยียวยา และเสวนาที่มีความหมายมากมาย ฯลฯ

จัดดอกไม้-เปลี่ยนใจ

flowers june 16เมื่อหลายวันก่อน เราไปทำบุญที่วัดกับเพื่อน ๆ ต่างคนต่างนำและทำสิ่งดีๆ ที่ตนรักไปถวายพระและแบ่งปันญาติธรรมที่ไปทำบุญด้วยกัน
เราชอบกินและรักการทำอาหาร จึงคิดทำอาหาร และอาหารที่ดูจะมีรสชาติปลอดภัยกับผู้รับประทานมากที่สุด คือ ไข่ต้ม เราตื่นแต่เช้า ต้มไข่เป็ดให้เป็นยางมะตูม (ค่อนไปทางใกล้สุก) เตรียมหอมแดง มะนาว น้ำปลา ไปทำน้ำจิ้มที่วัด

เพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นนักรักการจัดดอกไม้ พี่น้อยหน่า เตรียมดอกไม้ กิ่งไม้ มาจัดแจกันดอกไม้ถวายพระ ส่วนเพื่อนรุ่นพี่อีกคน พี่ต้อง เป็นผู้ช่วยทำทุกอย่าง ทั้งเตรียมอาหาร ปอกไข่ ผ่าไข่ และจัดดอกไม้

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย แจกันดอกไม้สวยสง่าถูกนำไปวางหน้าพระพุทธรูปในศาลาฟังธรรม ไข่ต้มสีส้มสวย (ผ่าครึ่ง) วางบนผักสลัดเขียวในจาน (eggs on the greens) ได้รับความสนใจจนเกลี้ยงจาน เหลือแต่ความว่างเปล่า

วันนั้นสิ่งที่เหลือกลับบ้านคือดอกไม้จำนวนหนึ่งและแจกัน ซึ่งพี่หน่ายกให้เราเพื่อให้ลองไปจัดดอกไม้

ในใจคิดว่า “ซวยล่ะ เราต้องจัดดอกไม้ให้พี่เค้าดูสิเนี่ย เค้าอุตส่าห์ให้เรามา”

ทีแรกคิดว่าจะทำลืมเนียน ๆ ไม่รู้ไม่ชี้ แต่พอมองดอกคาร์เนชั่นสีชมพูหวาน รู้สึกว่า ไม่อาจทิ้งให้เธอเหงาได้ คงต้องทำให้เธองามสง่าในแจกัน

คงไม่ใช่แต่ความรู้สึก “ต้อง” จัดแจกันดอกไม้ส่งให้พี่หน่า แต่เป็นสิ่งที่พี่หน่าเล่าถึงความมหัศจรรย์ของการจัดดอกไม้ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราอย่างมากมาย

flowers 3 june16

พี่น้อยหน้า ผู้รักการจัดดอกไม้

 

พี่น้อยหน่าเล่าให้ฟังถึงการจัดดอกไม้ตามหลัก “โคริงกะ” ของญี่ปุ่น ที่เธอไปเรียนและฝึกฝนกว่า 2 ปี ซึ่งขอสรุปในส่วนที่ซึ้งใจว่า ทุกอย่างมีความงามตามธรรมชาติของมัน เราเพียงแต่ต้องสังเกต มองเห็น และนำเอาสิ่งดี จุดเด่นของสิ่งนั้นมานำเสนอ ทุกอย่าง ดอกไม้ กิ่งไม้ใบไม้ ผักสวนครัว ล้วนนำมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะแห่งดอกไม้ ผัก ได้ทั้งนั้น
สำหรับความงามและธรรมชาติอย่างการจัดแจกันดอกไม้ใบไม้ เราไม่ใช้ความคิด แต่ใช้จิตใจสัมผัสดอกไม้และให้ดอกไม้นำทางเราว่าควรจะจัดและวางเขาอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ พี่หน่าบอกว่า การจัดดอกไม้ช่วยลดอัตตาในใจ ลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและพยายามปรับ-จัดให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจ แต่เราจะเปิดใจมองเห็นความงามของสิ่งต่าง ๆ และคนทั้งหลายอย่างที่เป็น และดูว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสวยงามได้อย่างไร

พี่หน่าเล่าว่าผู้เรียนจัดดอกไม้หลายคนค้นพบว่า การจัดดอกไม้ช่วยเปลี่ยนจิตใจและชีวิตของพวกเขา บางคนบอกว่า จัดดอกไม้แล้วพบว่า ตัวเองเป็นจอมบงการ อยากให้ลูกและคนอื่น ๆ เป็นดั่งใจ แต่ในการจัดดอกไม้แนวนี้ เราไม่บีบบังคับดอกไม้ให้เป็นดังใจเรา ดังนั้น เราต้องฟังผู้อื่นและเห็นความงามของผู้คนในแบบที่เขาเป็น

แม่คนหนึ่งบอกว่า ดอกไม้ต่างงาม เหมือนกับลูกของเธอที่ต่างดี ต่างงามในแบบของตน เธอเปิดใจยอมรับลูกในแบบที่แต่ละคนเป็นได้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีบางคนที่มีความสุขกับการจัดดอกไม้ ทำให้คลายความทุกข์ ความอาฆาตใครบางคนที่ทำร้ายสมาชิกในครอบครัวของเธอ เป็นต้น

สำหรับพี่หน่าเอง การจัดดอกไม้เป็นความสุข ความสบายใจ เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมองซีกขวา (จินตนาการ ศิลปะ) เพื่อสร้างสมดุลให้ชีวิตสมัยใหม่ที่มักเน้นสมองซีกซ้าย (ความคิด ตรรกะ)

เพียงชั่วโมงกว่า ๆ ที่เราได้คุยกับพี่หน่าเรื่องดอกไม้ เราสัมผัสได้ถึงความรัก ความสุข ความเข้าใจชีวิตบางอย่างซึ่งความรู้สึกดี ๆ มันคงติดต่อกันได้ละมัง เมื่อกลับถึงบ้าน เราเริ่มลงมือจัดดอกไม้

flowers 5 june 16เราหยิบดอกไม้คาร์เนชั่นสีชมพูอ่อนขึ้นมาดู หมุนไปมา ใจว่างเพื่อสัมผัสกับความงามที่ดอกไม้ต้องการให้เรานำเสนอ แล้วก็จัดดอกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ …แจกันแรกเสร็จแล้ว

เมื่อมองแจกัน เราเห็นเรื่องเล่าของมิตรที่สนทนากัน ดอกคาร์เนชั่นดอกหนึ่งสูงสง่าในความว่าง อีกดอกเตี้ยลงมาหน่อยและโอบล้อมด้วยใบไม้สีเขียว สองดอก สองบุคลิก เป็นเพื่อนกันในแจกันทรงสูงใบนี้ และมันก็เป็นเพื่อนกับเราด้วย

ถ้าให้ความคิดทำงาน มันคงติง/วิพากษ์วิจารณ์ว่า น้อยไปหรือเปล่า ง่ายไปไหม คนอื่นจะมองแจกันนี้อย่างไร แต่เมื่อใช้ใจสัมผัส เราพบว่า ทุกอย่างงามอย่างที่เป็น ทุกอย่างสมบูรณ์ดีแล้วในแบบของมัน … มันเป็นความรู้สึกยอมรับ เคารพในสิ่งที่เราสัมพันธ์ด้วย … ความรู้จัก พอ-ดี เป็นบทเรียนแรกที่ได้

ดอกคาร์เนชั่นและใบไม้ยังเหลือ เรารีบไปค้นแจกันในบ้าน ซึ่งมีไม่มากและน้อยแบบ … แต่ไม่เป็นไร จัดดอกไม้ตามเงื่อนไขที่มีก็แล้วกัน

แจกันที่มีเป็นรูปทรงเตี้ยและแคบกว่า เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า การจัดแจกันดอกไม้สัมพันธ์กับภาชนะ (container) หรือบริบทด้วย ในกรณีนี้หมายถึง เราต้องไปหาดอกไม้หรือใบไม้แบบอื่นที่จะเหมาะกับแจกันที่มี และในสวนของบ้านก็มีวัตถุดิบที่พอใช้ได้มากพอ เราเลยเดินดูต้นไม้ในสวน … รู้สึกประหลาดใจว่า สายตาของเราเปลี่ยนไป เราไม่ได้มองต้นไม้ ดอกไม้ ด้วยสายตาแบบเดิม เราสังเกตต้นไม้ต่าง ๆ มากขึ้น ดูสี ลักษณะกิ่ง ฟอร์มของใบไม้ ดอกไม้ และจินตนาการเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่ใบไม้ กิ่งไม้ ดอกไม้ ที่จะแสดงศักยภาพความงามของมันในแจกัน

flowers 2 june 16พี่หน่าบอกว่า มุมมองที่เรามีกับธรรมชาตินั้นสำคัญ เรามองธรรมชาติเป็นเพื่อนร่วมงาน เรามาร่วมจัดแจกันดอกไม้ด้วยกัน อันที่จริง เราอาจจะเป็นเครื่องมือให้ดอกไม้ ใบไม้ ได้สร้างสรรค์ตัวเองในรูปแบบใหม่ในแจกัน

ดอกชบาสีจัดจ้านโน้มกิ่งอย่างไร รูปดอกหันไปทางไหน เทียนหยดสีม่วงย้อยตัวลงมา ความยืดหยุ่นของกิ่งที่น้อมมาเป็นอย่างไร ฯลฯ …  สายตาใหม่ในการมองทำให้เราสนุกและเพลิดเพลินกับการมองดอกไม้มากขึ้น

การจัดดอกไม้ เราต้องตัดดอกไม้ แต่ต้องตัดด้วยความเคารพ ตัดดอกไม้โดยที่ไม่ทำให้ต้นไม้นั้นดูไม่ดี คือ ต้องรู้จักรักษาความงามของต้นไม้ด้วย

จากแจกันแรก เราจัดแจกันที่สอง และสาม … เรามีความสุขกับการอยู่กับดอกไม้ จนลืมเวลา เมื่อทั้ง 3 แจกันมีดอกไม้เป็นเพื่อนแล้ว เราเอาแจกันดอกไม้ไปวางที่หิ้งพระ ข้างเตียง และบนโต๊ะในห้องนั่งเล่น

แม้บ้านจะมีสวนต้นไม้ แต่การมีดอกไม้เล็ก ๆ ในตัวบ้านก็ทำให้บรรยากาศสดชื่นทีเดียว พี่หน่าบอกว่า ดอกไม้มีหน้าที่ของเขาตามธรรมชาติ หนึ่งในหน้าที่ของเขา คือ นำความสดชื่น เบิกบาน และความสุขมาให้กับผู้คน นั่นก็คืออีกหนึ่งคุณค่าของดอกไม้flowers 4  june16

 

ของที่ระลึก “กระทิงเขาหัก”

สำหรับนักท่องเที่ยวหลายคน ของที่ระลึกจากต่างแดน (souvenir) เป็นเสมือนสัญลักษณ์บอกไมล์การท่องเที่ยวที่ประกาศหรือเตือนความทรงจำกันว่า เราได้เดินทางไป “เหยียบ” ที่ไหนมาบ้าง และบางทีการให้ของที่ระลึกจากการเดินทางกับญาติมิตรเพื่อนฝูง ก็อาจจะเป็นการส่งสารบอกกันว่า “ระหว่างที่เราไปอยู่แดนไกล เราระลึกถึงเธอด้วยนะ”

ไม่ว่าเหตุผลในการซื้อ เก็บ แจก ของที่ระลึกของเราจะเป็นอย่างไร สำหรับฉัน การเดินทางไปสเปนและหาของที่ระลึก ทำให้ฉันพบ “ของที่ระลึก” ที่ไม่ได้เตือนว่าฉันไปที่ไหนมา แต่หากเตือนว่า ฉันได้ทำอะไร

เมื่อ ๒ ปีก่อน (ค.ศ. ๒๐๑๐) ฉันได้รับโอกาสเดินทางไปประชุมงานด้านการสื่อสารศาสนสัมพันธ์ ที่กรุงเมดริด ประเทศสเปน … สำหรับฉัน นี่คือรักแรกพบ ฉันหลงรักประเทศสเปน อาหารการกิน วัฒนธรรม อากาศ และอีกหลายอย่าง ดังนั้น ในช่วงการประชุม เมื่อมีเวลา ฉันจะหาโอกาสเตร็ดเตร่ไปตามบาทวิถีที่แสนกว้างขวาง และมีชีวิตชีวา เพื่อสำรวจสสีสันของสเปน

บ่ายคล้อยของวันหนึ่ง ฉันเดินไปบริเวณจัตุรัสคนเดิน เป็นย่านที่มีตรอกซอกซอยน้อยใหญ่ ซอกแซกขึ้นลงตามลาดเขาของที่ตั้งเมือง

ฉันเดินตามใจไปเรื่อย ๆ จนไปถึงร้านขายของที่ระลึกร้านใหญ่ร้านหนึ่ง “ป้าสะสมแม่เหล็กติดตู้เย็นจากประเทศต่าง ๆ ซื้อมาให้ป้าด้วยนะ” เสียงกระซิบแกมสั่งของแม่อุตสาห์เดินทางตามมาจากประเทศไทย

ฉันเดินไปหยุดดูที่แผงแม่เหล็กติดตู้เย็น ที่มีแม่เหล็กติดตู้เย็นมากมาย “เอาแบบไหนดี ที่จะแสดงถึงความเป็นสเปน” ฉันคิด

ฉันหยิบจับอันโน้นที อันนี้ที หมุนตัวไปมา จนมือเผลอปัดไปถูกแม่เหล็กติดตู้เย็นรูปหัววัวกระทิงอันหนึ่ง เจ้าวัวกระทิงปูนปั้นนูนสูงตกลงพื้น ปลายเขากระทิงข้างหนึ่งหัก

ตกใจ … ฉันหันซ้าย หันขวา “มีใครเห็นบ้างไหมนะ” ฉันคิดในใจ

ไม่มีใครเห็น … ฉันโล่งใจ และรีบอำพรางคดีโดยเร็ว ฉันเอาวัวกระทิงตัวนี้กลับไปแปะไว้ที่เดิม แล้วทำเนียน ๆ รีบเดินออกจากร้านไป

ใจเต้นรัว ฉันหวังว่า จะไม่มีเสียงใดเรียกฉันมาจากข้างหลัง ฉันรีบจ้ำฝีเท้า เพื่อไปให้ไกลจากร้านนั้นเร็วที่สุด แต่ก็มีเสียงตามฉันมาจนได้

“นางฟ้าของพี่ไม่ทำอย่างนี้หรอกนะ”

เสียงใครน่ะ … ฉันเงี่ยใจฟังให้ชัด ๆ อีกที … อ้อ เสียงพี่สาวต่างพ่อต่างแม่ของฉันเอง เธอมักเรียกฉันว่า “นางฟ้า” (Angel) อาจเป็นเพราะโปสการ์ดภาพ angel ของ ไมเคิล แองเจลโล ที่ฉันเคยให้พี่เป็นที่ระลึกจากประเทศอังกฤษ เมื่อหลายปีก่อน

“อุ๊ไม่ใช่นางฟ้าซะหน่อย” ฉันบอกปัด “อุ๊ไม่ได้ตั้งใจ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ บางทีแม่เหล็กมันไม่ดี แค่มือไปสะกิด ก็หลุด ของมันไม่ดี” ฉันสาธยายเหตุผล

“นั่นแหละ เราก็เป็นผู้ทำความเสียหายนั้นอยู่ดี” เสียงพี่สาวตอบ

“รับผิดชอบอะไร ทำไมอุ๊ต้องจ่ายเงินซื้อกระทิงเขาหัก แล้วใครจะอยากได้เอามันไปแปะตู้เย็น ซื้อไปก็เสียเงินเปล่า” ฉันอธิบาย

“ก็นั่นนะสิ ขนาดเรายังไม่อยากได้ แล้วใครเขาจะซื้อ ถ้าเห็นว่ากระทิงเขาหัก แล้วร้านเขาจะขายของได้อย่างไร แล้วถ้าเกิดนักท่องเที่ยวคนไหนไม่ดูให้ดี แล้วซื้อกระทิงเขาหักไป เขาจะรู้สึกอย่างไร และบางที เด็กลูกจ้างที่ขายของที่ร้าน อาจโดนเจ้าของร้านปรับก็ได้นะ” พี่สาวร่ายยาว

“ร้านนั้นขายดีจะตายไป ของแค่นี้ ราคาไม่กี่ตัง ไม่เจ๊งหรอกน่า และอุ๊ก็ไม่ได้ตั้งใจซะหน่อย” ฉันยังย้ำความบริสุทธิ์ใจ

พี่สาวเองก็ยืนยันความเห็นของเธอ “อุ๊ของพี่ไม่ทำอย่างนี้…”

ฉันเดินจากร้านนั้นไปไกลแล้ว แต่ฉันไม่มีความสุขเลย เสียงของพี่สาวเดินตามฉันไปตลอดทาง ร้านรวงต่าง ๆ น่าสนใจ แต่ฉันไม่สามารถเพลิดเพลินกับสิ่งต่าง ๆ ได้เลยหากพี่สาวยังคงพูดอยู่อย่างนี้ ฉันจึงตัดบท ไม่อยากคุยด้วยแล้ว เสียบรรยากาศ

ฉันพยายามกลบเสียงของเธอ โดยพุ่งความสนใจไปที่ร้านรวงต่าง ๆ อ่านป้าย ทำตัววุ่นกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำเป็นคิดนั่นคิดนี่ … สักพัก เสียงของพี่สาวก็หายไป ฉันลืมทุกอย่างไปสิ้น และกลับมาสนุกกับการเดินดูบ้านเมืองในย่านกลางกรุงเมดริดเหมือนเดิม

ฉันเดินเต็ดเตร่ไปเรื่อย โดยใช้สัญชาติญาณ ฉันพยายามเดินไปยังจุดที่ยังไม่ได้เดิน และจำจุดสำคัญ ๆ เอาไว้ เพื่อให้รู้ว่า เดินมาแล้ว จะได้ไม่เดินซ้ำรอยเดิม ฉันเดินอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินใจมาก จนรู้สึกเมื่อยและคิดว่าได้เวลากลับแล้ว ฉันยังคงเดินในเส้นทางที่ยังไม่ได้ผ่าน แล้วจู่ ๆ ฉันก็เริ่มรู้สึกคุ้น ๆ กับภาพ ๆ หนึ่ง

ตรงหน้าฉันไกล ๆ เป็นร้านขายของที่ระลึกร้านนั้น …. โดยไม่คิด เท้าของฉันก้าวเดินตรงไปที่ร้านนั้น …ไม่มีความคิดหรือเสียงใด ๆ … ฉันอยู่ที่หน้าร้าน ….ก็ยังไม่มีความคิดหรือเสียงใด ๆ ในใจ…. ฉันเดินตรงไปที่แผงขายแม่เหล็กติดตู้เย็น ก้มมองดูที่กระทิง … ยิ้ม … กระทิงเขาหักยังอยู่ตรงนั้น … ฉันรีบหยิบมันออกมา ราวกับว่า กลัวใครจะมาแย่งเอาไป

ฉันรีบเดินตรงไปที่แคชเชียร์ ยื่นกระทิงเขาหักให้พนักงาน ท่าทีของพนักงานสะดุดกับอะไรบางอย่างเล็กน้อย และเขาก็รีบเอากระทิงตัวนั้นใส่ถุงราวกับกลัวว่าฉันจะเปลี่ยนใจ .. ฉันส่งยิ้มให้เขา หยิบเงิน ๒ ยูโรออกมาจากกระเป๋า และจ่ายเงินด้วยความภาคภูมิใจ

ฉันเดินออกจากร้านนั้นด้วยรอยยิ้ม ฉันเก็บของที่ระลึกตัวนี้ด้วยความรักและระมัดระวังอย่างที่สุด

ถึงเมืองไทย ฉันเอากระทิงเขาหักตัวนี้แปะที่ตู้เย็น ที่ที่ฉันจะเห็นมันทุกวัน และทุกครั้งที่ฉันเห็นเขากระทิงที่หัก … ฉันยิ้ม

คนที่บ้านถามฉันว่า “อ้าว กระทิงเขาหักซะแล้ว เสียดาย” ฉันยิ้ม “ไม่เป็นไรหรอกคะ สวยดี”

ทุกครั้งที่ฉันมองกระทิงเขาหัก ฉันยิ้ม และนึกถึงเรื่องราวที่พาฉันให้ได้มันมาประดับตู้เย็น ฉันนึกถึงเสียงของพี่สาวที่พยายามจูงใจฉันให้ทำในสิ่งที่ควร

กระทิงเขาหักเตือนให้ฉันเห็นความสำคัญของกัลยาณมิตร ผู้ที่เดินทางไปกับเราด้วยไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เดินทางไปไกลสักเพียงใด หรือแม้เราจะเดินทางไปตามลำพัง แต่กัลยาณมิตรไม่เคยทิ้งเราให้เดียวดาย โดยเฉพาะในเวลาที่เราเผชิญกับอสูรร้ายในใจของเรา กัลยาณมิตรจะประคับประคองใจเราให้รอดพ้นวิกฤตแห่งจิตวิญญาณ  

พรมแดนแห่งภาวะผู้นำ (ตนเอง) Leadership at the edge

A flash of sunshine

หนึ่งในนิยาม “ภาวะผู้นำ” คือ การก้าวข้ามตนเอง การเอาชนะตัวเอง

เห็นด้วยจากตรรกะ และคิดว่าเข้าใจพอประมาณด้วยการคิดตาม แต่ไม่แน่ใจว่า ตนเองเห็นเคยสัมผัสสภาวะแห่งการก้าวข้ามหรือเอาชนะตัวเองหรือไม่

เวลาที่เราก้าวข้ามตนเอง เอาชนะตนเอง สภาวะตอนนั้นเป็นอย่างไร ใจของเราเป็นอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เรามีความรู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง รำคาญ เบื่อ และเกิดความคิดที่อยากพูดหรือทำอะไรบางอย่าง …. หากเราพูดและทำตามแรงกระตุ้นนั้น เราก็อยู่ในแบบแผนพฤติกรรมหรืออุปนิสัยเดิม ซึ่งหลายครั้งก็มักนำไปสู่ผลที่เราพอจะคาดเดาได้อยู่บ้าง

แต่เมื่อเราให้พื้นที่ จะเรียกว่า ห้อยแขวน ปล่อยวาง หรือ อยู่กับอารมณ์ ความคิดนั้น ๆ ไปสักพักก่อน โดยไม่ต้องทำตามแรงกระตุ้นภายใน มันจะเกิดช่องว่าง ซึ่งเป็นโอกาสให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ความคิดความเห็นใหม่ ๆ แบบแผนพฤติกรรมใหม่ ๆ และตรงนั้นเอง ที่เราอยากเรียกว่า a small edge of leadership

ตรงนั้น เราเลือกได้ว่า จะยังคงอยู่ใน loop เดิม หรือจะกระโดดข้ามมันออกไป

ช่องว่างนี้เป็นโอกาสให้การก้าวข้ามเกิดขึ้นได้ การเอาชนะตัวเองเกิดขึ้นได้

ณ พรมแดน ที่เป็นรอยต่อของความคุ้นชินกับความใหม่ที่ไม่เคย ไม่ง่ายเลยที่จะกระโดดข้ามออกไป มันต้องใช้แรงมากพอสมควรที่จะฝืนแรงภายใน

แต่เมื่อได้ทำและทำได้ เราจะพบคนใหม่ (ในชั่วขณะนั้น) และความสดใหม่ในตัวเองนำความปีติมาให้กับหัวใจ เราได้เห็นผลของการเป็นคนใหม่ในขณะนั้นว่า ให้ผลที่ต่างออกไปจากเดิม

ในขณะนั้นเอง ร่องแห่งพฤติกรรมใหม่ ตัวตนใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

หากมีการทำซ้ำ ๆๆๆ ก็จะกลายเป็นแบบแผนใหม่ของตัวเรา ทั้งการคิด ทำ พูด (new being) — การเปลี่ยนแปลงตนเองจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ในแง่นี้ สิ่งที่เราเห็นและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเอง (self transformation) ว่าเป็นเรื่องที่เราก้าวข้าม และเอาชนะตัวเอง ในขณะต่าง ๆ ที่ถูกท้าทายกับเรื่องราวมากมายในชีวิตประจำวัน

เก็บชัยชนะเรื่อย ๆ บ่อย ๆ จนตัวตนเก่าค่อย ๆ ผลัดเปลี่ยนไป กลายเป็นคนใหม่อยู่เรื่อย ๆ จนถึงที่สุดแห่งภาวะผู้นำ คือ ความเป็นมนุษย์ที่แท้