เปิดโลกอาสา ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ (ธรรมชาติ)

งามในความง่าย ยิ่งใหญ่ในความสามัญ

เมื่อวานเราได้ไปร่วมกิจกรรมในงานเปิดโลกอาสาครั้งที่ ๒ ตอน “พิทักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งจัดโดย ธนาคารจิตอาสา การร่วมงานในวันนี้ตลอดทั้งวันทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า กำลังอยู่ในโลกเสมือนสวรรค์ (virtual heaven)

ผู้คนส่งสายตาและรอยยิ้มแห่งมิตรภาพให้กัน พูดคุยกันด้วยความเมตตา แม้เราจะเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน แต่เราเชื่อมกันด้วยหัวใจเดียว — หัวใจที่รักโลก รักตัวเอง รักผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม

ในยามเช้า เราได้รับแรงบันดาลใจมหาศาลจาก ๒ หนุ่ม ๑ สาว ผู้แปรความรักในหัวใจออกเป็นพลังปฏิบัติการเพื่อสร้างสรรค์โลกที่หล่อเลี้ยงชีวิตและมอบความรักให้พวกเขาตลอดมา ในช่วงบ่าย เราล้อมวงเรียนรู้พลังสุนทรียสนทนา และการใช้ภาษาแห่งความรู้สึก

วงสนทนาทั้งวันของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราไม่ได้หลีกหนีความปั่นป่วนภายนอก ทว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของเราในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นเป็นห้วงเวลาที่เราร่วมเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้มีพลังใจ พลังปัญญา ก่อนออกไปโอบกอดทุกข์ในโลกภายนอก

ในบทความนี้ ผู้เขียนสะท้อนความรู้สึกและแรงบันดาลใจจากงานเปิดโลกและสุนทรียสนทนา เป็น ๔ ตอนด้วยกัน ซึ่งจะทะยอยนำเสนอ ดังนี้

  • ยิ่งรู้จักยิ่งรักเธอ — ธรรมชาติ (มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาฯ)
  • เพราะรัก จึงปลูกผัก (เครือข่ายตลาดสีเขียว)
  • ศรัทธาในสิ่งที่ทำ สำคัญที่แนวร่วม (จักรยานกลางเมือง)
  • ภาษาแห่งหัวใจ (สุนทรียสนทนา)

 ยิ่งรู้จักยิ่งรักเธอ — ธรรมชาติ

ยุทธ — ธีรยุทธ ลออพงษ์พล จากมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (FEED) ได้รับการปลูกฝังความรักโลกจากพ่อแม่ ที่มักพาเขาไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ยุทธจึงรักและอยากดูแลโลกให้งดงามอย่างที่เขาเคยเห็นเมื่อวัยเด็ก

แม้ว่าเขาจะเรียนจบด้านบริหารธุรกิจโฆษณา แต่เขากลับพบว่าตัวตนของเขาอยู่กับธรรมชาติ เมื่อเรียนจบเขาจึงสมัครเป็น “อาสาสมัคร” ในองค์กรทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ WWF เขาเข้าเป็นอาสาสมัครไร้เงินเดือน แต่เปี่ยมด้วยโอกาสแห่งประสบการณ์ ในที่สุดเขาก็ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรเต็มตัว จากวันนั้นจนวันนี้ ๑๕ ปีมาแล้ว เขากล่าวว่า สำหรับธรรมชาติ “ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ”

ในวันนี้ยุทธยังทำงานกับ WWF ในนามขององค์กร FEED ที่เน้นสิ่งแวดล้อมศึกษา สร้างความตระหนักรู้ ปลูกความรักความเข้าใจธรรมชาติในหัวใจคน ด้วยการปฏิบัติงานที่ ๓ ศูนย์ คือ ศูนย์บางปู จังหวัดสมุทรปราการ ที่เน้นการศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ศูนย์ปทุมธานี ศึกษาเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติในที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ตามแนวพระราชดำริ และศูนย์กรุงเทพที่ทำโครงการ “โรงเรียนใหญ่ รอยเท้าเล็ก” ให้เด็กนักเรียนในโครงการสำรวจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันว่า เราได้สร้างรอยเท้าคาร์บอนไว้ในโลกมากเท่าไร และหากเรายังคงพฤติกรรมเช่นนี้ เราต้องการโลกอีกกี่ใบหรือต้องปลูกต้นไม้อีกกี่ต้น เพื่อที่จะอยู่ได้ต่อไปในโลกใบนี้

เด็กคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการรอยเท้าเล็กกล่าวว่า “ตอนนี้ผมกินข้าวหมดจานแล้วครับ”

“แต่ก่อนกินไม่หมดหรือ?” เจ้าหน้าที่ FEED ถาม

“หมดครับ”

“อ้าวแล้วน้องเปลี่ยนไปอย่างไรล่ะเนี่ย”

“ก็แต่ก่อน ผมกินข้าวหมดเพราะแม่สั่ง แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ทำไมผมควรกินข้าวหมด เพราะมีคนไม่มีอาหารกินและอดตายวันหนึ่ง ๆ เป็นหมื่นคนทั่วโลก”

ยุทธกล่าวว่า มีกว่า ๔๐ วิธีที่เราทุกคนจะช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพื่อให้เรามีรอยเท้าเล็กลง เช่น ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ลดการใช้พาหนะที่เผาพลังงานฟอสซิล ลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ฯลฯ และแน่นอนว่า ช่วยกันรักษาดูแลต้นไม้ให้อยู่กับเรานาน ๆ และจำนวนมากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นต้น

ยุทธกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมศึกษาในในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ทั้งกับเด็ก และผู้ใหญ่ว่า “สิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นกระบวนการที่ให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ในบรรยากาศที่ใกล้เคียงธรรมชาติ เพื่อให้เราเห็นห่วงโซ่สายสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีต่อกันและกัน” ดังนั้น การเรียนรู้ที่เหมาะจึงน่าจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ ใคร่ครวญชีวิตว่าได้รับประโยชน์หรือสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร ได้มีเวลาหยุดและนิ่งบ้างเพื่อจะชื่นชมความงามของธรรมชาติ ….

โรงเรียน หรือองค์กรเอกชน (CSR) ที่พานักเรียน และพนักงานไปทำกิจกรรมปลูกป่า สำหรับยุทธแล้ว ถ้าจะให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เราจำเป็นต้องปลูกความรัก ความเข้าใจของคนที่ต่อโลกก่อน ผ่านกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา เพราะเมื่อคนรักโลกเป็นแล้ว เห็นความหมาย ความสำคัญ ความงามของธรรมชาติและโลกที่มีต่อชีวิตเรา ความยั่งยืนในการดูแลรักษาป่าก็จะเกิดขึ้นเอง